ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3/2559 ชะลอการเติบโตลงอย่างต่อเนื่อง มาที่ 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากสิ้นปี 2558 ที่ทำได้ 5.2% และต่ำกว่าระดับเลข 2 หลักในช่วงปี 2552 - 2556 ค่อนข้างมาก ซึ่งสะท้อนทั้งผลจากการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังขึ้นของสถาบันการเงินและการจำกัดการก่อหนี้ใหม่ภาคครัว เรือน
ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2559 ปรับลดลงเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน มาที่ระดับ 81.0% ต่อจีดีพี เทียบกับ 81.3% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2559 โดยการปรับลดลงดังกล่าว คาดว่าเป็นผลของการเติบโตที่ชะลอลงในสินเชื่อรายย่อยหลาย ประเภท ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (ซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในหนี้ครัวเรือน) ที่เติบโตเพียง 8.0% YoY ในไตรมาส 3/2559 จากระดับ 8.7% ในไตรมาส 2/2559 ตามจำนวนที่อยู่อาศัยโอนกรรมสิทธิ์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ปรับลดลง เช่นเดียวกับสิน เชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคและสินเชื่ออเนกประสงค์ที่เติบโตชะลอลงจากการใช้นโยบายเครดิตที่ระมัดระวังมากขึ้นของสถาบันการเงิน เพื่อดูแลปัญหาหนี้เสียในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อย่างไรก็ดี สินเชื่อบัตรเครดิตยังเติบโตได้จากการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ เติบโตดีขึ้น และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ก็สามารถประคองการเติบโตไว้ได้ในแดนบวกเช่นเดียวกับสิ้นปี 2558 แม้เผชิญแรงกดดันจาก การคืนสินเชื่อในโครงการรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในมิติของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนแล้ว จะพบว่า แม้ยอดคงค้างหนี้ ครัวเรือนจะปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 9.81 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับว่าการเติบโตของหนี้ยังคง ชะลอลงอย่างต่อเนื่องมาที่ระดับ 4.1% YoY (ซึ่งต่ำที่สุดในข้อมูลรายไตรมาสที่สามารถเก็บย้อนกลับไปได้ถึงปี 2547)
สำหรับสิ้นปี 59 คาดหนี้ครัวเรือนจะพลิกกลับมาขยับขึ้นสู่ระดับ 81.5% ต่อจีดีพี จากการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ทำ ได้อย่างต่อเนื่องและมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ก่อนปิดปี ผนวกกับการเข้าสู่ฤดูกาล จับจ่ายใช้สอยช่วงท้ายปีของประชาชนที่จะหนุนการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต รวมถึงสินเชื่ออเนกประสงค์อื่นๆ ให้เติบโตดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2559 แต่เป็นระดับที่ต่ำลงจาก สิ้นปี 2558 ซึ่งย้ำภาพการชะลอความร้อนแรงลงจากอดีตและช่วยลดทอนความกังวลต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมลงไปได้ใน ระดับหนึ่ง
ขณะที่แนวโน้มปี 60 คาดหนี้ครัวเรือนทรงตัวหรือขยับลดลงมาที่กรอบคาดการณ์ 80.5-81.5% (บนสมมติฐานจีดีพีขยาย ตัว 3.3%) แม้อาจเห็นอัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นมาที่กรอบ 4.0-5.0% จากสิ้นปี 2559 ที่น่าจะเติบโตได้ 3.6% แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีหน้าอาจต่ำลง โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ที่จะมีผลต่อมูลค่าจีดีพีซึ่ง เป็นตัวหารของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี) ที่คาดหวังว่า จะได้รับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของ ภาครัฐ รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลก ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่จะมีบทบาทต่อการเติบโตของหนี้ครัวเรือน ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการ อุปโภคบริโภค และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะมีแรงหนุนจากการเปิดตัวโครงการใหม่ ๆ ของผู้ ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางการจัดกิจกรรมการตลาดอย่างเข้มข้น ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยที่คงทรงตัวในปีหน้าแต่อาจเริ่ม ขยับขึ้นในปี 2561 จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยและเบิกใช้สินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยอย่างแท้จริงในปี 2560 เพื่อล็อกต้นทุนดอกเบี้ยให้ยังอยู่ในระดับต่ำและเหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืน ขณะที่ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งรวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต น่าจะได้รับแรงหนุนจากค่าครองชีพที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนพลังงานและค่า จ้างแรงงานที่ขยับขึ้น ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งหดถึงทรงตัวมาหลายปีติดต่อกัน จะพลิกกลับมาขยายตัวในแดนบวกอย่างชัดเจนขึ้น ในปี 2560 สอดคล้องกับการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศ และการปลดภาระหนี้ของผู้เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกราว 30% ของผู้ที่เข้าโครงการดังกล่าว ซึ่งทำให้การไถลลงของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ลดน้อยลง ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่จะเป็นแกนหลักใน การให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนในปี 2560 นั้นคงยังหนีไม่พ้นธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสหกรณ์ออมทรัพย์ ส่วนนอน แบงก์จะกลับมามีบทบาทเพิ่มขึ้นหลังหดตัวมานาน 2 ปีติดต่อกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 2560 นี้ คงเป็นจังหวะอันดีที่ครัวเรือนไทยจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวในการเตรียม แนวทางรับมือ หรือสะสมเงินออม เพื่อเป็นกันชนทางการเงินไว้รองรับการปรับเพิ่มของดอกเบี้ยเงินกู้ที่น่าจะมาถึงในอีกหนึ่งปีถัดไป ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น อาจกระทบต่อภาระหนี้จ่ายของครัวเรือนที่มีหนี้ซึ่งอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง โดย เฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย (ที่ผ่านช่วงอัตราดอกเบี้ยคงที่แล้ว) สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเงินกู้สหกรณ์ ที่มีสัดส่วนรวมราว 35% ต่อจีดีพีที่มีโอกาสได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ ขณะที่ ฝั่งสถาบันการเงินเองคงต้องใช้นโยบายเครดิตที่รัดกุมต่อเนื่อง แม้ว่า ความกังวลต่อปัญหาความร้อนแรงของหนี้ครัวเรือนจะบรรเทาลงแล้วก็ตาม