นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังขยายผู้รับหลักประกันเพิ่มขึ้นอีก 6 ประเภทธุรกิจ เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทบริหารทรัพย์สิน บริษัทแฟ็กเตอริง ฯลฯ จากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะสถาบันการเงินเป็นผู้รับหลักประกันฯ เท่านั้น รองรับ SMEs ตื่นตัวแห่ใช้สิทธิตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพียง 6 เดือน ทะลุ 1 แสนคำขอ มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท สิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารนำโด่ง 62% แบรนด์ดังเริ่มนำทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เป็นหลักประกันฯ มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท คาดครบ 1 ปี เฉียด 3 แสนคำขอ มูลค่ารวมแตะ 3 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศกำหนดให้นิติบุคคลเป็นผู้รับหลักประกันตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มเติม จำนวน 6 ประเภทธุรกิจ ได้แก่ 1) นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ 2) ทรัสตีในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน 3) บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4) นิติบุคคลซึ่งประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ และ 6) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง ทำให้มีผู้รับหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยทั้ง 6 ประเภทธุรกิจ มีนิติบุคคลที่จะเป็นผู้รับหลักประกันได้เพิ่มขึ้นกว่า 200 ราย ซึ่งจากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะสถาบันการเงินเป็นผู้รับหลักประกันฯ เท่านั้น
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มนิติบุคคลให้เป็นผู้รับหลักประกันมากขึ้น เพื่อรองรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีการตื่นตัวแห่ใช้สิทธิตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นจำนวนมาก โดยนับตั้งแต่ที่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2559) เกือบ 6 เดือน มีธุรกิจ SMEs ยื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวม 109,107 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 1,450,066 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็น 62% (มูลค่า 893,065 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน คิดเป็น 20% (มูลค่า 287,682 ล้านบาท) และสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็น 16% (มูลค่า 230,114 ล้านบาท)
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันมีธุรกิจสินค้าแบรนด์ดังของประเทศไทยนำทรัพย์สินทางปัญญา (เครื่องหมายการค้า) มาเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันด้วย โดยมีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า หลังครบ 1 ปี ของการบังคับใช้กฎหมายฯ จะมีคำขอจดทะเบียนฯ ประมาณ 3 แสนคำขอ และมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสามารถแสดงได้ถึงความกระตือรือร้นของธุรกิจ SMEs ในการใช้สิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ได้ดำเนินการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี (ผู้ให้หลักประกัน) สถาบันการเงิน (ผู้รับหลักประกัน) ผู้ประสงค์จะเป็นผู้บังคับหลักประกัน นักวิชาการแขนงต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียด และใช้ประโยชน์จากกฎหมายฯ ฉบับนี้ได้อย่างเต็มที่
สำหรับผู้รับหลักประกันใหม่ที่เพิ่มขึ้นอีก 6 ประเภทธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมเปิดติวเข้มแบบเจาะลึกให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้รับหลักประกันใหม่สามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจในการนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันโดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้แก่เจ้าหนี้และยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นในการประกอบธุรกิจต่อไปได้ โดยได้กำหนดติวเข้มระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2560 ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้รับหลักประกันใหม่สนใจเข้ารับการติวเข้ม สามารถติดต่อได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5048-9 e-Mail : stro@dbd.go.th หรือ สายด่วน 1570