นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารฯ มีกองทุนร่วมลงทุนทั้งหมด 3 กอง วงเงินกองทุนรวมทั้งสิ้น 1,290 ล้านบาท แยกเป็น 1.กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs กองทุนย่อยที่ 1 วงเงินกองทุน 500 ล้านบาท 2.กองทุนร่วมลงทุนพันธกิจ SMEs เชิงเกษตรและที่เกี่ยวข้อง วงเงินกองทุน 200 ล้านบาท และมติคณะกรรมการ ธพว.เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.59 ขยายวงเงินเป็น 290 ล้านบาท และ 3.จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs กองทุนย่อยที่ 2 วงเงินกองทุนรวม 500 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการ ธพว.เมื่อวันที่ 27 ต.ค.59 โดยเน้นร่วมทุน SMEs เป้าหมาย Start-up และ SMEs ขนาดย่อมและขนาดกลาง S-curve ใน 5 อุตสาหกรรมคลัสเตอร์ในอนาคตตามนโยบายรัฐบาล โดยร่วมลงทุนรายละไม่เกิน 30 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี และลงทุนไม่เกิน 49% ของทุนจดทะเบียนกิจการ ซึ่งขณะนี้ธนาคารได้คัดเลือกบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด เป็นทรัสตีทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการกองทุน และบริษัท พีพีเอ็ม แอ็ดไวเซอรี่ เป็นผู้จัดการทรัสต์ ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนในปี 2560
สำหรับปี 2559 การร่วมลงทุนของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมกลุ่ม S-Curve ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs สนใจเข้าร่วมนำเสนอ (pitching) จำนวนรวม 75 ราย วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,298 ล้านบาท ซึ่งมีหลากหลายธุรกิจอยู่ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve แบ่งเป็น ด้านเกษตรแปรรูป (Food) 37% ด้านดิจิตอล (Digital) 27% ออโตเมชั่น (Automation) 20% เศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative)13% และสุขภาพ (Health) 3% ตามลำดับ ซึ่งคณะกรรมการร่วมลงทุน (Venture Capital Committee) ของธนาคารอนุมัติในหลักการร่วมลงทุนธุรกิจกลุ่ม Starup และ SMEs รวมทั้งสิ้น 20 กิจการ วงเงินรวม 345.20 ล้านบาท สามารถช่วยให้ก่อเกิดการจ้างงานเพิ่มประมาณ 400 ราย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 1,070 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารร่วมลงทุนในระบบ Eco System ของกลุ่มธุรกิจ Starup ที่มีศักยภาพและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการเสนอแนวความคิดการบ่มเพาะธุรกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม และสร้าง Co-Working Space และ Innovation Center ด้วย จำนวนเงิน 350 ล้านบาท
สำหรับกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs กองทุนย่อยที่ 1 ธนาคารอนุมัติหลักการร่วมลงทุน 8 กิจการ วงเงิน 98 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมด้านเกษตรแปรรูปจำนวน 6 กิจการ อาทิ บริษัท ฟรุตต้า เนเชอรัล จำกัด ผู้ผลิตน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ บริษัท บ้านผลไม้ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลไม้อบแห้งคุณภาพสูง เป็นต้น และที่เหลืออีก 2 กิจการอยู่ในกลุ่มดิจิตอล คือ บริษัท บิสซิเนส คอมแพ็ดทิทีฟ อินเทลลิเจนซ์ ธุรกิจซอฟแวร์ระบบวางแผนการผลิต (MRP) และบริษัท พียูยู เอ็น อินเทลลิเจนท์ จำกัด ผู้พัฒนาซอฟแวร์โปรแกรมบัญชีออนไลน์
โครงการร่วมลงทุนพันธกิจ SMEs เชิงเกษตรและที่เกี่ยวข้อง อนุมัติหลักการร่วมลงทุน 12 กิจการ วงเงิน 247.20 ล้านบาทนั้น โดยภาพรวมธนาคารลงทุนในกลุ่มเกษตรแปรรูปเป็นหลักเช่นกัน จำนวน 9 กิจการ อาทิ บริษัท โจลี่ แฟมิลี่ ธุรกิจผลไม้อบแห้ง บริษัท เวอร์จิ้น เอฟ แอนด์ บี จำกัด ผลิตและจำหน่ายทองม้วนเพื่อการส่งออก เป็นต้น และที่เหลือร่วมลงทุนกระจายในอุตสาหกรรมอื่นๆ กลุ่มออโตเมชั่น คือ บริษัท ก้าวหน้าโลจิสติคส์ คอนซัลเทนท์ จำกัด ธุรกิจรับซื้อพืชไร่หัวมันและผลิตรถตัดใบมันที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มการเก็บเกี่ยวผลผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กลุ่มสุขภาพ บริษัทเชียงใหม่ไบโอเวกกี้ ผลิตผักอัดเม็ดอาหารเสริมจากธรรมชาติ และบริษัท พัชทรี ทัวร์ กรุ๊ป จำกัด ธุรกิจนำเที่ยว ในกลุ่มครีเอทีฟ โดยจะนำความคิดสร้างสรรค์การนำเที่ยวรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองกลุ่มนักท่องเที่ยวให้เกิดความหลากหลายและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศต่อไป ซึ่งธุรกิจรายนี้เพิ่งได้รับการอนุมัติหลักการเข้าร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา