(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ธ.ค.59 CPI ขยายตัว 1.13%, Core CPI ขยายตัว 0.74%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2017 12:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ธ.ค.59 อยู่ที่ 106.93 ขยายตัว 1.13% เมื่อเทียบกับ ธ.ค.58 และหากเทียบกับเดือน พ.ย.59 ขยายตัว 0.13% ส่งผลให้ CPI ทั้งปี 59 ขยายตัว 0.19%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ธ.ค.59 อยู่ที่ 106.90 ขยายตัว 0.74% เมื่อเทียบกับ ธ.ค.58 และขยายตัว 0.01% เมื่อเทียบกับ พ.ย.59 ส่งผลให้ Core CPI ทั้งปี 59 ขยายตัว 0.74%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เดือน ธ.ค.59 อยู่ที่ 115.68 เพิ่มขึ้น 1.36% เทียบกับเดือน ธ.ค.58 แต่หดตัว -0.40% เทียบกับเดือน พ.ย.59 ส่วนดัชนีราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 102.25 เพิ่มขึ้น 1.00% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.58 และเพิ่มขึ้น 0.43% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.59

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ธ.ค.59 สูงขึ้น 1.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 25 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย.57 โดยเป็นผลมาจากการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศตามแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงได้กลับมาเป็นปัจจัยเร่งอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 59 หลังจากที่น้ำมันเป็นตัวฉุดรั้งการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อมาตั้งแต่ปี 58 ซึ่งในส่วนของราคาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ได้ขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในรอบปีที่ผ่านมา ขณะที่ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มยังคงส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อในปี 59

"ตัวเลข CPI ในเดือน ธ.ค.นี้ ถือว่าเกิน 1% แล้ว และเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าทั้งหมด 450 รายการในเดือน ธ.ค.59 พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 146 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, กุ้งขาว, ปลานิล, กระเทียม, เครื่องแบบข้าราชการ และ ค่าทัศนาจรทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงมี 104 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า, เนื้อสุกร, ไก่สด, น้ำมันพืช, ไข่ไก่, ผงซักฟอก, ผักผลไม้สด เป็นต้น ในขณะที่สินค้าอีก 200 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง

โดยเงินเฟ้อทั้งปี 59 อยู่ที่ 0.19% ถือว่าอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่วางไว้ 0-1%

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายจากผลการเร่งตัวราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการที่ใช้พลังงานเป็นองค์ประกอบหลัก

"การขยายตัวของเงินเฟ้อในระดับดังกล่าวถือว่าเป็นเงินเฟ้ออย่างอ่อน และอยู่ในเกณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมได้" น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในปี 60 นี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 1.5-2.0% โดยมีสมมติฐานจาก 1. GDP ในปี 60 ขยายตัว 3.0-3.5% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 59 ซึ่งมีปัจจัยหนุนมาจาก การใช้จ่ายครัวเรือน, การผลิต และรายได้เกษตรกรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายและการลงทุนโครงการภาครัฐ การส่งออกสินค้าและบริการสูงขึ้น และมีทิศทางเป็นบวกสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม

2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 45-55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 59 โดยคาดว่าความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะสูงขึ้นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ อุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลกมีความสมดุลมากขึ้นจากการควบคุมกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ทำให้ความผันผวนของราคาลดลง

3.อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.50-37.50 บาท/ดอลลาร์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในหลายประเทศ

สำหรับปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป ได้แก่ อุปสงค์ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับการผลิตและรายได้เกษตร, รายได้จากภาคการส่งออกมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น และมาตรการภาครัฐสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในช่วงเทศกาล ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น กระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ และเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออก และต้นทุนการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ