นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้จะเติบไตได้ราว 3.2-3.3% จากนั้นการเติบโตจะเป็นไปอย่างโดดเด่นขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ในอัตราราว 3.3-3.7% ทำให้ทั้งปีนี้ ม.หอการค้าไทย ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.6% หรืออยู่ในกรอบ 3.5-4.0% ตามที่วางไว้
ทั้งนี้ การบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวไม่มากนักในไตรมาสแรกของปี 60 เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“คาดว่าในไตรมาส 1 ปี 60 คนจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แม้จะยังอยูในช่วงภาวะของความเศร้าโศก ความเชื่อมั่นของประชาชนจะเริ่มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีแรงส่งจากการจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีน การปรับขึ้นค่าแรงตั้งแต่ต้นปี 60 บรรยากาศในไตรมาส 1 จะช่วยส่งให้เศรษฐกิจฟื้น ประกอบกับงบกลางปีที่จะลงไปใน 18 กุล่มจังหวัด ซึ่งหากผ่าน สนช.ได้เร็ว และเม็ดเงินลงไปในระบบได้ในช่วง มี.ค. เม.ย. ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นแรงส่งไปถึงเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ได้" นายธนวรรธน์ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ด้านการส่งออกของไทยในปีนี้ มีโอกาสจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ 1-3% โดยเชื่อว่าจะค่อยๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสแรก ขณะที่บรรยากาศด้านการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาคึกคักมากขึ้นหลังจากปัญหาผลกระทบทัวร์ศูนย์เหรียญเริ่มคลี่คลายลง โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยราว 4.5-5 ล้านคนในไตรมาสแรก ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้ของประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และในกรุงเทพฯ ปริมณฑลมากขึ้น
ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าในปีนี้จะได้เริ่มเห็นระดับที่เกิน 1% และน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปตลอดทั้งปี เนื่องจากระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น และช่วงครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 1.5-2.5% โดยทั้งปีจะอยู่ในกรอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ที่ 1.5-2.0%และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ในช่วงครึ่งปีแรก และในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะปรับขึ้นเพียง 0.25%
“ยังไม่มีแรงกดดันสำคัญที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เพราะธปท. และกระทรวงการคลังตกลงกันไว้ว่ากรอบเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 1-4% หรือ 2.5% บวก/ลบ 1.5% ดังนั้นเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่งเริ่มเข้าใกล้ 1% จึงยังไม่มีเหตุอะไรที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดในช่วงครึ่งปีแรก แต่แรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยน่าจะเกิดในครึ่งปีหลังประมาณ 0.25%" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นเป็นลำดับทั้งสหภาพยุโรป ในด้านการผลิต การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ส่วนสหรัฐฯ เชื่อว่าการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวดีขึ้นได้ ในขณะที่เอเชียและอาเซียน เริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกที่กลับมาดีขึ้น ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจึงน่าจะได้รับอานิสงค์จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น หากไม่มีความผันผวนจากนโยบายช็อคโลกของประธานาธิบดีสหรัฐ และสถานการณ์ Brexit ที่จะไม่สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก
ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การที่รัฐบาลจะต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ส่วนสถานการณ์ด้านการเมืองในประเทศนั้น นายธนวรรธน์ เชื่อว่า จะไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องกังวล เนื่องจากประชาชนยังเชื่อว่าการปฏิรูปประเทศจะเดินหน้าไปตามโรดแมพที่รัฐบาลวางไว้ โดยมองว่าการเมืองในอนาคตยังมีเสถียรภาพ และไม่น่าจะมีเหตุอะไรที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การประท้วงที่รุนแรงในประเทศอีก ซึ่งทุกคนน่าจะเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งตามโรดแมพที่รัฐบาลได้กำหนดไว้