นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในการยกระดับราคาสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตร ซึ่งได้มอบหมายกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยที่ผ่านมามีการดำเนินมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดังนี้
1. ข้าว แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 ประกอบด้วย
- ช่วงการเพาะปลูก จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) การส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี 2) สนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบนาแปลงใหญ่ และ 3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายปลูกข้าว
- ช่วงออกสู่ตลาด จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1) ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก 2) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3) สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก
- การลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนด้านปัจจัยการผลิตและบริการ แยกเป็น ค่าปุ๋ยเตมี ปรับลดลงกระสอบละ 10-30 บาท ยาปราบศัตรูพืชลดลงอีกร้อยละ 5-15 บาท เมล็ดพันธุ์ข้าว ลดราคาลงอีก กก.ละ 1 บาท ค่าเช่าที่นา ลดลงไร่ละ 200 บาท
- การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อย
- การดูแลหนี้สินเดิม จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1) การพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และ 2) การอบรมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต
- การเยียวยา ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559
- การปรับเปลี่ยน จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ 1) พื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรทางเลือก 2) – 5) การปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการปศุสัตว์ ได้แก่ กระบือ โคเนื้อ เลี้ยงแพะ การทำนาหญ้า 6) การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2560 และ 7) การปรับเปลี่ยนการปลูกข้าว
2. มันสำปะหลัง แนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2559/60
- โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง
- โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลังในระบบน้ำหยด ธ.ก.ส.จ่ายเงินกู้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 12 ราย วงเงินกู้ 1,197,500 บาท
- โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตและการแปรรูปมันสำปะหลัง
- โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลัง และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถานบันเกษตรกร
- โครงการพักชำระหนี้ดันเงินและลดดอกเบี้ยให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินและลดต้นทุนในการประกอบอาชีพของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. โดย ธ.ก.ส. จ่ายเงินกู้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 203 ราย วงเงินกู้ 3,955,000 บาท
รวมทั้ง มีมาตรการเสริม คือ การเชื่อมโยงมันสำปะหลังเข้าสู่อุตสาหกรรมเอทานอล โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ได้จัดพิธีลงนาม MOU มีโรงงานเอทานอลร่วมลงนาม 5 ราย สหกรณ์การเกษตร/กลุ่มเกษตรกร 10 ราย ปริมาณรวบรวมหัวมันสด 1,200 ตัน/วัน และการเจรจาขยายตลาดแป้งมัน มันเส้น มันอัดเม็ด และกากอัดเม็ด ในประเทศอินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และจับคู่เจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 มีผู้ผลิต/ผู้ส่งออกไทย 39 บริษัท มีการลงนาม MOU จำนวน 5 ฉบับ ปริมาณ 1.7 ล้านตัน มูลค่า 10,710 ล้านบาท
3. ปาล์มน้ำมัน
- การบริหารระดับสต๊อกน้ำมันปาล์มคงเหลือ ให้ปรับสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตเป็นไบโอฯ (B100) ผสมในน้ำมันดีเซล โดยลดสัดส่วนผสมจาก B7 เป็นไม่ต่ำกว่า B5 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2559
- กำหนดราคาแนะนำผลปาล์ม กำหนดราคารับซื้อผลปาล์มแนะนำ 18% ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 5.70 บาท และปรับเพิ่ม กก.ละ 0.30 บาท ทุกๆ อัตราน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 1%
- กวดขันและปราบปรามจับกุมการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม
- การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ (การผลิต นวัตกรรม มาตรฐาน พลังงาน การตลาด และบริหารจัดการ)
4. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาตรการการส่งออก เป็นสินค้ามาตรฐาน ผู้ส่งออกต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกซึ่งสินค้ามาตรฐานและมีหนังสือรับรองมาตรฐานประกอบพิธีตรวจปล่อยหากส่งออกอ่านเท่าเรือกรุงเทพ แหลมฉบังและมาบตาพุด มาตรการควบคุมการขนย้ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2559 โดยออกประกาศ กกร. ควบคุมการขนย้ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2559 ลงวันที่ 25 มกราคม 2559 ห้ามมิให้ขนย้ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีปริมาณ ครั้งละ 10,000 กก.ขึ้นไปออกจากท้องที่
รมว.พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปีใหม่นี้ นอกจากจะคงมาตรการเดิมที่ใช้ได้ผลดีในปีที่ผ่านมา เพราะทำให้ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวและปรับตัวสูงขึ้นแล้ว กระทรวงฯ ยังจะเสริมมาตรการด้านการตลาด และการบูรณาการข้อมูลที่เข้มข้นมากขึ้น โดยจะมีการจัดวางแผนล่วงหน้าเป็นรายไตรมาส สำหรับสินค้าเกษตรที่จะออกในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 เช่น ม.ค.-มี.ค. จะเป็นช่วงฤดูกาลของพืชหัว เช่น หอมแดง, หอมหัวใหญ่, กระเทียม, มันสำปะหลัง และ เม.ย.- พ.ค. จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง
สำหรับแผนการตลาด นอกเหนือจากการค้าปกติแล้วจะเน้น การทำการค้า on line การเชื่อมโยงตลาด การจัดตั้งตลาดกลางค้าข้าวสาร เพื่อเป็นแหล่งซื้อ-ขายสินค้าเกษตร การผลักดันให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐานสากล สำหรับสินค้าเกษตร เช่น มาตรฐานสินค้าออแกนนิค GAP เป็นต้น
การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยจะร่วมมือกับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูปให้รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรนำไปแปรรูปขายในประเทศ และส่งออก เช่น ข้าว นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร Super Food มันสำปะหลังนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร หรือใช้ในอุตสาหกรรม
นางอภิรดี กล่าวว่า ปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในอดีต คือ ผู้ประกอบการไม่รู้จักและสามารถเข้าถึงแหล่งผลิตได้ กระทรวงพาณิชย์จึงจะผลักดันโครงการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบบการได้เจอกัน และรับทราบข้อมูลของกันและกัน โดยการใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกษตรกรขายสินค้าไปยังผู้ประกอบการแปรรูปได้แล้ว ยังช่วยให้ผู้บริหารกระทรวงสามารถติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งต่อไปในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์เข้ามาไว้ด้วย เช่น ราคาสินค้า ปริมาณการผลิต และระบบ early warning โดยคาดว่าระบบดังกล่าวจะสมบูรณ์ในเดือนเม.ย.60 นี้