นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในขณะนี้ยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิตมากนัก และไม่ใช่ข้ออ้างที่จะใช้ปรับขึ้นราคาขายสินค้า ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้มากขึ้นจะทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และสามารถช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้เติบโตขึ้นได้
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 5-10 บาท และมีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 นั้น โดยรวมแล้วค่าแรงมีสัดส่วนในต้นทุนการผลิตสินค้า 10-30% เท่านั้น ที่สำคัญปัจจุบันสินค้าส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรในการผลิต ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยมาก จะมีเพียงสินค้าเสื้อนักเรียนเท่านั้นที่ใช้แรงงานคน สินค้าที่ใช้เครื่องจักร เช่น นมยูเอชที กล่องละ 12 บาท จะมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มเพียงกล่องละ 0.01 บาทเท่านั้น ผงซักฟอก ถุงละ 63 บาท จะกระทบเพียง 0.08 บาท ส่วนเสื้อนักเรียนจะมีผลกระทบเพียงตัวละ 1.74 บาท
ส่วนราคาอาหารปรุงสำเร็จจะมีผลกระทบเพียง 20 สตางค์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 26.74 บาทนั้นมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งเพียงเล็กน้อยเพียง 0.02-0.09% เท่านั้น รวมทั้งหมดผลกระทบที่มีต่อต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคจะมีเพียงไม่ถึง 1 บาทจึงไม่มีเหตุผลในการปรับขึ้นราคา