พาณิชย์ รื้อใหญ่กฎหมายธุรกิจ 5 ฉบับ ให้ยืดหยุ่น-เพิ่มประสิทธิภาพหวังยกระดับมาตรฐานเอสเอ็มอี,สตาร์ทอัพ

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday January 8, 2017 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีนโยบายปรับบทบาท และทิศทางการทำงานให้สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจในปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ โดยได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ พิจารณาทบทวนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บางฉบับที่มีความเข้มงวดและขาดความยืดหยุ่นในการเริ่มต้นธุรกิจให้มีความทันสมัย ลดขั้นตอนต่าง ๆ ลง และมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

พร้อมทั้งปรับบทบาทจากการเป็นผู้กำกับดูแลเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจตั้งใหม่ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้ การปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานแก่เอสเอ็มอี รวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ ให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปได้

ทั้งนี้ กฎหมายธุรกิจ 5 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนระหว่างการนำเสนอและพิจารณาแก้ไข โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ การดำเนินงานระยะสั้น เป็นการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาภายใต้กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ ให้ครอบคลุมธุรกิจบริการ ตามความต้องการของเอสเอ็มอี และกลุ่มสตาร์ทอัพ ให้เข้าสู่ระบบและได้รับการส่งเสริมต่อไป

การดำเนินงานระยะยาว เป็นการยกร่างกฎหมายใหม่และปรับปรุงพระราชบัญญัติ จำนวน 4 ฉบับ คือ 1) ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลคนเดียว พ.ศ. ... (อยู่ระหว่างการนำเสนอ) 2) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา) เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ โดยแก้ไขจำนวนผู้เริ่มก่อการจาก 3 คน เป็น 2 คน ให้ผู้ประสงค์ยื่นจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท สามารถจดทะเบียนข้ามเขตได้ และแก้ให้การประชุมกรรมการสามารถใช้วิธีการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

3) การปรับปรุงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอแก้ไขโดยคณะทำงานสตาร์ทอัพ และรองรับ e-Registration ในเรื่อง การออกหุ้นกู้แปลงสภาพ การแก้ไขหุ้นบุริมสิทธิ การยกเลิกการจัดทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 และ 4) การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ ให้มีความทันสมัย โดยเพิ่มธุรกิจบริการให้มากขึ้น ลดขั้นตอนการกำหนดประเภทธุรกิจเพื่อให้เอสเอ็มอี และกลุ่มสตาร์ทอัพที่ไม่ต้องการเป็นนิติบุคลแต่ต้องการเพียงหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกับภาครัฐ

นอกจากการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายแล้ว ยังมีโครงการรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยหอการค้า และกฎหมายว่าด้วยสมาคมการค้า ให้ทันสมัยรองรับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงเพิ่มบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ธุรกิจตั้งใหม่ เพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ อีกช่องทางหนึ่งด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ