คนร.เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจมุ่งหน้าสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 9, 2017 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประกาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คนร.ครั้งที่ 1/2560 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจและมอบหมายให้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนที่เกี่ยวข้องต่อไป

แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการสำคัญของกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไทยแลนด์ 4.0 แผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) และนำสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนายุทธศาสตร์ขึ้น

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : กำหนดบทบาทรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดบทบาทและทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนและแยกบทบาทระหว่างผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบายและผู้ให้บริการออกจากกันอย่างชัดเจน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : เร่งการลงทุนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยการจัดให้มีแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจราย 5 ปี ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับโครงการลงทุน และการระดมทุนจากแหล่งเงินทุนทางเลือกอื่นๆ เช่น การส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPPs) หรือการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ จะจัดให้มีกลไกในการชดเชยให้แก่รัฐวิสาหกิจที่ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐภายในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะการมุ่งสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 และแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ประชาชนและลดต้นทุนการดำเนินงาน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้มีความโปร่งในและมีคุณธรรม มีกลไกลส่งเสริมและสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการ เพื่อเป็นองค์กรคุณธรรม

ทั้งนี้ นายเอกนิติ กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 7 แห่ง โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาผลการดำเนินงานในปี 59 และแผนงานในปี 60 ประกอบด้วย 1.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดย คนร.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่มีผลการดำเนินงานในภาพรวมดีขึ้นและเป็นไปตามกรอบเป้าหมาย โดยมีผลกำไร 1,600 ล้านบาท มีการขยายสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น 34,000 ล้านบาท การบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดต่ำกว่าเป้าหมายที่ 18,000 ล้านบาท

สำหรับในปี 60 คนร.ได้กำหนดให้ธพว.เร่งปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ให้เพิ่มขึ้น วงเงิน 30,000 ล้านบาท และการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ให้มีจำนวนไม่เกิน 16,600 ล้านบาท รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับการดำเนินงานของธนาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างใกล้ชิด

แม้ผลการดำเนินงาน ธพว.จะดีขึ้น แต่ที่ประชุมยังไม่ได้มีการพิจารณาให้ออกจากแผนฟื้นฟูและต้องติดตามผลการดำเนินการต่อไป

2.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่ง คนร.รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยมีการจัดทำแผนรองรับการดำเนินงานตลอดจนการเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารได้มากขึ้น และได้จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เป็นไปตามแผนแล้ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการเพิ่มทุนอีก 18,000 ล้านบาทและธนาคารจะมีการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์

ทั้งนี้ คนร.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับการดำเนินงานของธนาคารในเรื่องต่างๆอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเร่งสรรหาพันธมิตรภายในเดือนมิถุนายน 2560 นี้ และตั้งเป้าให้ธนาคารสามารถมีกำไรได้ในปีนี้

3.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) คนร.ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางบก และ ขสมก.ให้เป็นไปตามมติ คนร. หรือแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร โดยนายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงโดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ จึงได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบความปลอดภัยให้เข้มงวดมากขึ้น และในปี 60 ให้มีการเร่งปฏิรูปเส้นทางเดินรถให้มีความชัดเจน

4.บมจ.การบินไทย (THAI) คนร.รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไข ซึ่งในไตรมาส 3/59 ผลประกอบการดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 58 โดยการดำเนินการตามแผนส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด และมอบหมายให้การบินไทย เร่งจัดทำระบบขายตั๋วให้สามารถเพิ่มสัดส่วนการขายผ่านช่องทางอินเตอร์เนต และพิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนในบริษัทลูกต่างๆ

5.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนร.รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของรฟท. ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอของ รฟท.ที่จะต้องรับผิดชอบเรื่องการดำเนินการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันและการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเอง และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และรฟท.พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งจะต้องกำหนดเงื่อนไขความสำเร็จ รวมทั้งจะต้องลดภาระหนี้สินของรฟท.ลงด้วย

6-7.บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดย คนร.รับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจของทั้ง 2 บริษัทโดยจัดตั้งบริษัท NGDC ในการดำเนินธุรกิจเคเบิ้ลในแก้วใต้น้ำและอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ และ NGN ในการดำเนินธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบรนด์

ทั้งนี้ คนร.ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับทั้ง 2 หน่วยงาน พิจารณาแผนธุรกิจของทั้ง 2 บริษัท และบริษัทในเครือที่จะจัดตั้งขึ้นให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงและให้นำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ภายในต้น ก.พ.60

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะกรรมกฤษฎีกาเร่งพิจารณากฎหมายเป็นกรณีพิเศษ โดยขณะนี้พิจารณาแล้ว 95% ซึ่งหากกฤษฎีกาพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่กระบวนการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ