นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 12 จังหวัดภาคใต้นั้น สำนักงาน คปภ.มีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมหนักและได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สินจำนวนมาก โดยได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 8 (สุราษฎร์ธานี) และภาค 9 (สงขลา) ซึ่งดูแลพื้นที่ที่ประสบภัยใน 12 จังหวัดภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบริษัทประกันภัยเพื่อเร่งประเมินความเสียหายทั้งด้านการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้
โดยขณะนี้มีรายงานเบื้องต้นจากบริษัทประกันภัยเกี่ยวกับความเสียหายของรถยนต์ที่ทำประกันภัยจำนวน 501 คัน ประเมินความเสียหายประมาณ 79.75 ล้านบาท ความเสียหายเกี่ยวกับบ้านพักอาศัย 6 ราย ประเมินความเสียหาย 1 ล้านบาท ความเสียหายต่อสถานประกอบการจำนวน 3 ราย ประเมินความเสียหาย 9 ล้านบาท และพื้นที่ความเสียหายที่เป็นนาข้าวจำนวน 40,296 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย
"ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน คปภ. เร่งรวบรวมตัวเลขความเสียหายทั้งหมด เพื่อเตรียมความพร้อมและเยียวยาให้ความช่วยเหลือด้านค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ทำประกันภัยที่ประสบภัยในครั้งนี้อย่างเร่งด่วน" เลขาธิการ คปภ.ระบุ
ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประสบภัยที่ทำประกันภัยไว้ ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่าให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วมหรือไม่ และเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อแจ้งบริษัทที่รับประกันภัยโดยเร็ว ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม ได้แก่ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ (ประเภท 1) หรือกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจประเภทอื่นที่ซื้อความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติเพิ่มเติม และกรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) รวมถึงกรมธรรม์ประกันชีวิต
ขณะเดียวกันมีความห่วงใยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน คปภ. ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมครั้งนี้ด้วย โดยให้รายงานความเสียหายของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนที่พักอาศัยของพนักงานและลูกจ้างที่ถูกน้ำท่วม ทั้งนี้เพื่อหามาตรการให้ความช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานคปภ.ยังได้ร่วมกับบริษัทประกันภัย ชมรมประกันวินาศภัยและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่ประสบภัย ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย โดยนำเครื่องอุปโภคบริโภคและถุงยังชีพมอบให้กับผู้ประสบภัยในพื้นที่แล้ว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เช่น แผ่นดินไหว ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วม ลมพายุ ลูกเห็บตก เป็นต้น สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน บ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นวงกว้าง สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยพี่น้องชาวจังหวัดภาคใต้ที่ประสบภัยในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยได้สั่งการให้ดำเนินการช่วยเหลือและติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด และขอแนะนำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัยควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง และรายละเอียดข้อยกเว้นให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้ได้ความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการ เพราะหากต้องประสบเหตุการณ์จากภัยธรรมชาติ การทำประกันภัยไว้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้