นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทยอยระบายข้าวในสต็อกของรัฐ ทั้งเพื่อการบริโภคและระบายสู่อุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องตามจังหวะและโอกาสที่ตลาดเอื้ออำนวย โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีแนวทางชัดเจนให้นำข้าวในสต็อกของรัฐออกมาระบายโดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดและราคาที่เกษตรกรจะได้รับ ซึ่งตั้งแต่เดือนก.ย.59 คณะกรรมการ นบข.ได้มีมติให้ชะลอการระบายข้าวในสต็อกของรัฐเพื่อป้องกันผลกระทบด้านราคาต่อเกษตรกรและความเสียหายต่อระบบตลาดข้าวส่งออกของไทยในวงกว้าง ซึ่งไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว (ก.ย.-ธ.ค.59) เป็นช่วงที่ข้าวฤดูกาลผลิตใหม่ออกสู่ตลาดในปริมาณมาก
ปัจจุบัน รัฐบาลมีข้าวคงเหลือในสต็อกของรัฐประมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.59 เห็นว่าขณะนี้ข้าวได้ออกจากมือของชาวนาแล้ว จึงเป็นช่วงที่เหมาะสมที่จะเสนอให้คณะกรรมการ นบข.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การระบายข้าวคงเหลือในสต็อก เพื่อเร่งรัดการระบายสู่ช่องทางที่เหมาะสมกับสภาพข้าวเพื่อรักษาประโยชน์สูงสุดของรัฐ และไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตลาด ราคาข้าว และธัญพืชอื่นที่เกษตรกรจะได้รับ ซึ่งเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ที่ นบข. กำหนด เนื่องจากข้าวดังกล่าวบางส่วนเสื่อมสภาพตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรกและความเสื่อมตามอายุการเก็บรักษา โดยมีอายุตั้งแต่ 3 ปี จนถึง 8 ปี 10 เดือน (นาปรัง 2551 - นาปี 2556/57) มีหลายเกรดคละกัน ไม่สามารถคัดแยกได้ เป็นอุปทานส่วนเกินที่กดทับตลาดข้าวใหม่ และส่งผลจิตวิทยาเชิงลบต่อตลาด ทำให้ข้าวไทยถูกกดราคาในตลาดโลก รวมทั้งภาครัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวในสต็อก เดือนละประมาณ 504 ล้านบาท หรือวันละประมาณ 17 ล้านบาท โดยมีข้อเสนอการจัดกลุ่มข้าว วิธีการ และเงื่อนไขการระบายเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ข้าวที่ควรระบายเป็นการทั่วไป 3.01 ล้านตัน ซึ่งเป็นข้าวเกรดผ่านหรือใกล้เคียงมาตรฐานทั้งคลัง หรือมีข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานปนอยู่ในปริมาณไม่มาก มีอายุการเก็บต่ำกว่า 5 ปี สามารถนำไปปรับปรุงเพื่อการบริโภคได้
กลุ่มที่ 2 ข้าวที่ควรระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคน ปริมาณ 3.15 ล้านตัน โดยมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลสู่ตลาดปกติ ซึ่งเป็นข้าวที่มีข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน/ข้าวผิดชนิด/ข้าวผิดไปจากมาตรฐานปนอยู่ในปริมาณมาก มีอายุการเก็บต่ำกว่า 5 ปี ไม่เหมาะต่อการนำไปปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน แต่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ หรืออุตสาหกรรม แปรรูปที่ไม่ใช่อาหารคนได้
กลุ่มที่ 3 ข้าวที่ควรระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคนและสัตว์ ปริมาณ 1.85 ล้านตัน โดยมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลสู่ตลาดปกติ ส่วนใหญ่เป็นข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน/ข้าวผิดชนิด/ข้าวผิดไปจากมาตรฐาน และมีอายุการเก็บรักษาเกิน 5 ปี ผ่านการอบยามานาน อาจปนเปื้อนสารตกค้าง จึงไม่เหมาะที่จะใช้เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการ นบข. ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 9 ม.ค.60 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการข้าวในสต็อกที่เหลือ 3 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะเร่งรัดดำเนินการตามมติ นบข. โดยพิจารณาจังหวะการระบายข้าวที่เหมาะสม ไม่ให้กระทบต่อตลาด สอดคล้องกับสถานการณ์ข้าวในประเทศและต่างประเทศ และเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์การระบายข้าวในสต็อกของรัฐต่อไป