นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา "2560 จุดเปลี่ยนประเทศไทย" ว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะเติบโตเต็มตามศักยภาพที่ระดับ 4-5% ได้ ซึ่งในปีนี้รัฐบาลจะพยายามทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้มากกว่าระดับ 3% หลังจากที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับการติดกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นเวลานาน
"กระทรวงการคลังกำลังดูว่าจะมีอะไรมาช่วยกระตุ้นใจของเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่ม เอกชนต้องช่วยรัฐบาล เพราะเครื่องยนต์ 3 ตัวสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจล้วนมาจากเอกชนเป็นหลัก" นายสมชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า แม้ในปัจจุบันรัฐบาลจะยังมีช่องทางเพียงพอที่จะใส่เงินลงไป เนื่องจากหนี้สาธารณะของประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ แต่เห็นว่าการจะกู้เงินมาลงทุนในเรื่องใดนั้นจะต้องได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากลับมา และต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยได้แรงและเร็ว
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นอกจากการลงทุนของภาคเอกชนที่จะช่วยทำให้เกิดจุดเปลี่ยนประเทศไทยได้แล้ว ในปีนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ใส่งบประมาณไว้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยในการดึงดูดอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น และเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เอกชนของไทยมีการลงทุนตาม
"กระทรวงการคลังน้อยใจมากที่ในปีที่ผ่านมาเอกชนไม่ยอมลงทุน ทั้งๆ ที่เราให้สิทธิประโยชน์ และมาตรการทางภาษีมากสุดในประวัติศาสตร์ ทั้งอ้อนวอน ทั้งประชาสัมพันธ์ไปมากมาย แต่เอกชนก็ยังไม่ยอมลงทุน แต่เราก็เข้าใจ ในเมื่อคุณไม่มั่นใจ คุณก็ไม่อยากลงทุน พอมาปีนี้จะมาขอขยายมาตรการด้านการลงทุนเพิ่มอีก คงต้องรอดูท่านรองนายกฯ สมคิด ที่จะพิจารณาอีกรอบหรือไม่ กำลังดูเงื่อนไขอยู่" นายสมชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี นอกจากที่รัฐบาลต้องการเห็นการลงทุนที่มากขึ้นของภาคเอกชนแล้ว ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองก็ต้องเร่งรัดการลงทุนเช่นกัน เพื่อที่จะได้ร่วมกันช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ซึ่งเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะเติบโตตาม New Normal แล้ว พร้อมเห็นว่าขณะนี้ไทยจะต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจโลก ซึ่งการที่ภาคส่งออกไม่สามารถเป็นความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้นั้น ก็จะให้ภาคบริการมาเป็นตัวสร้างรายได้เข้าประเทศแทน ซึ่งภาคบริการในที่นี้ไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว แต่เป็นเรื่องการให้บริการด้านการแพทย์, สถานศึกษา เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งการเปิดเสรีภาคการเงินเพิ่มเติม
"ทุกอย่างนี้เป็นแบบจำลองในการนำเงินเข้าประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามที่หวัง 4% เพราะนอกเหนือจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การให้เอกชนลงทุนและรัฐวิสาหกิจลงทุนเพิ่มแล้ว อปท.ก็มีศักยภาพที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้ เราจะต้องหลุดพ้นจาก New Normal เพราะถ้าเรายังจมปลักอยู่กับความเป็นไปไม่ได้ เราก็จะทำไม่ได้เลย" ปลัดกระทรวงการคลัง
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนขอขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุนนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จะได้เสนอหลักเกณฑ์กับ รมว.คลัง เพื่อให้พิจารณาขยายมาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งคงต้องมีการกำหนดเงื่อนไขใหม่เพิ่มเติม เช่น ต้องมีเงินลงทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งการกำหนดเงื่อนเวลาในการลงทุน เป็นต้น
ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การคลังของไทยไม่ได้ถังแตก ปี 2560 นี้จะเป็นปีแห่งการปฏิรูป ซึ่งกระทรวงการคลังพยายามจะปิดทุกช่องโหว่ที่จะเป็นจุดอ่อนและทำให้เกิดวิกฤติการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้พยายามดำเนินการไปแล้ว เช่น การปิดวิกฤติจากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การผลักดันเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งคล้ายกับหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ แต่การกำกับดูแลคงจะไม่เข้มงวดเท่ากับสถาบันการเงิน แต่ยังคงต้องให้มีการตั้งสำรอง โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่ต้องมีความเข้มงวดในเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนของไทยใช้เป็นโมเดลสำคัญที่นำมาใช้ประเมินสถานการณ์ถึงความจำเป็นในการลงทุน ทั้งนี้จะมองว่าในปีที่ผ่านมา เอกชนไม่ลงทุนเลยก็คงไม่ใช่ แต่การลงทุนเกิดขึ้นในบางธุรกิจเท่านั้น ที่เห็นได้ชัดคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยดูได้จากคอนโดมิเนียมที่ทยอยเปิดโครงการกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจะตัดสินใจลงทุนนั้นเอกชนจำเป็นต้องเห็นโอกาสที่ชัดเจน เพราะเมื่อใดที่เห็นโอกาสที่ชัดเจนแล้วก็ไม่พลาดที่จะเข้าไปลงทุนอยู่แล้ว
"จริงๆ เอกชนก็ลงทุน แต่ลงทุนแค่ในบาง sector เพราะเห็นถึงโอกาส เมื่อเราเห็นโอกาส เราไม่พลาดที่จะลงทุนแน่นอน ต่อให้ไม่มีมาตรการออกมากระตุ้นก็ตาม" ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปี 59 ที่ผ่านมามีความผันผวนในหลายด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งในเรื่องราคาน้ำมันลดต่ำลงมาก, ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ตลอดจนปัญหาภัยแล้ง ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ไม่น่าจะขยายการลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด แต่มาในปีนี้ที่ภาคเอกชนมองว่าปัจจัยหลายอย่างเริ่มคลี่คลายลงแล้วทั้งราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพ ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่มีทิศทางดีขึ้น ซึ่งจะช่วยในเรื่องกำลังซื้อของภาคเกษตร ดังนั้นหากรัฐบาลต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้ต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ก็เชื่อว่านักลงทุนกล้าที่จะตัดสินใจขยายการลงทุนมากขึ้น
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร มองว่า จุดเปลี่ยนประเทศไทยในปีนี้มาจาก 2 ส่วนที่ชัดเจน คือ จากภายในประเทศ และจากต่างประเทศ ซึ่งจุดเปลี่ยนแรกที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ คือ การเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองที่อาจจะได้เห็นในปลายปีนี้จากที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งนักลงทุนประเมินว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่มากก็น้อย นอกจากนี้การทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศในระยะ 20 ปีนั้น ก็จะช่วยให้นักลงทุนได้เห็นเค้าโครงของการดำเนินนโยบายและทิศทางของประเทศในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดความเป็นห่วงจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์บ้านเมืองลงได้
"แต่ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็จะต้องมีความพอดีด้วย คือ สามารถชี้นำได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็จะต้องมีความยืดหยุ่นได้ด้วย เอกชนก็รอดูตรงนี้อยู่ การกำหนดแผนยุทธศาสตร์นี้ ก็เพื่อให้ภาคเอกชนได้รู้ความแน่นอนในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ช่วยลดความเป็นห่วงในความไม่แน่นอนลง" นายศุภวุฒิ กล่าว
ส่วนจุดเปลี่ยนที่สองมาจากสถานการณ์ของต่างประเทศ เช่น แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าปีนี้จะมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นถึง 3 ครั้ง หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในหลายส่วนเริ่มดูดีขึ้น ทั้ง GDP, การจ้างงาน, อัตราเงินเฟ้อ, ค่าจ้างแรงงาน ในขณะที่สหภาพยุโรป เริ่มทยอยลดปริมาณการทำ QE ลง และมองว่าเศรษฐกิจเริ่มเติบโตได้ในระดับปกติ และไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ส่วนญี่ปุ่น ยังคงใช้นโยบาย QE ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
"สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีกระแสของเงินทุนไหลออกมากกว่าไหลเข้า ซึ่ง Bank of America ประเมินว่ากว่าที่จะเห็นค่าเงินเริ่มนิ่งหรือทรงตัว น่าจะเป็นช่วงกลางปี 61 ซึ่งกรณีนี้ถือว่าเป็นจุดถ่วงหรือลมต้านการฟื้นเศรษฐกิจในภูมิภาค" นายศุภวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Bank of America ยังพบว่าปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางมาเป็นปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก เนื่องจากทั้งสหรัฐฯและจีนต่างเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งมี GDP รวมกันกว่า 1 ใน 3 ของโลก ดังนั้นทุกฝ่ายยังติดตามการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐว่าจะมีนโยบายทางการค้ากับจีนอย่างไร
"ถ้าสหรัฐฯ มีปัญหาทำสงครามทางการค้ากับจีน ก็จะกระทบกับ supply chain ของหลายประเทศ คงต้องตามดูว่านโยบายใหม่จะมีความราบรื่นมากน้อยเพียงใด" นายศุภวุฒิ กล่าว