ม.หอการค้าไทย คาดปี 60 ส่งออกไทยฟื้นตัวกลับมาโต 2.8% ตามศก.โลก-บาทอ่อนหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 11, 2017 15:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ทิศทางการส่งออกของไทยปี 60 ว่า การส่งออกไทยส่งสัญญาณฟื้นตัว คาดว่าจะมีมูลค่า 221,583 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 2.8% หรืออยู่ในช่วง 218,403 ถึง 224,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 1.3% ถึง 4.2% โดยสามารถขยายตัวได้ในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ขยายตัวมากสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 55 และอาเซียน รวมถึงประเทศทางตะวันออกกลาง แต่ทั้งนี้ต้องจับตามมองการส่งออกไปจีนที่หดตัวต่อเนื่อง 4 ปี นับตั้งแต่ปี 57 และสหภาพยุโรป (อียู) ที่อาจชะลอลง

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มทิศทางฟื้นตัว เป็นปัจจัยหลักให้การส่งออกในภาพรวมขยายตัวดีขึ้น, การอ่อนลงของค่าเงินบาทส่งผลให้ไทยมีความได้เปรียบในด้านราคามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนลงเช่นกัน, ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ไทยส่งออกไปประเทศผู้ส่งออกน้ำมันได้มากขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย และการค้าชายแดน/ผ่านแดนรวมขยายตัว

ขณะที่ความเสี่ยงการส่งออกในปีนี้ คือ การชะลอตัวเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ไทยส่งออกไปได้ชะลอลง , การกีดกันทางการทางค้าของ Trump ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อไทย, ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยุโรป เช่น Brexit และการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี มีผลให้ไทยส่งออกไป EU ชะลอลง และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น

การขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมัน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นขยายตัว ตลาดจีนชะลอตัวจากนโยบายลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางอ้อมจากนโยบายด้านการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่ตลาดอาเซียนเดิมและอาเซียนใหม่ยังคงขยายตัวได้ดีจากปัจจัยบวก AEC อย่างไรก็ตาม ไทยมีแนวโน้มพึ่งพาตลาดเดิมอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมากขึ้น แต่ต้องระวังการชะลอตัวในตลาดอียู

ทั้งนี้ คาดการณ์ค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงอ่อนไหว ในภาพรวมปี 60 คาดว่าค่าเงินจะมีทิศทางอ่อนค่าลงตามค่าเงินหยวนของจีน จากการที่ปัจจัยเงินทุนไหลออก โดยคาดว่าจีนจะมีค่าเงินอ่อนลงเป็นลำดับที่ 1 ญี่ปุ่น ลำดับที่ 2 และไทย ลำดับที่ 3

ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ คาดว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ส่งออกด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ จะต้องจับตามองนโยบายการผลิตของกลุ่มโอเปก และนโยบายด้านเศรษฐกิจและพลังงานของสหรัฐอเมริกา

ราคาสินค้าเกษตรคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตของสินค้าเป็นหลัก ทั้งนี้ในปี 59 ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดต่ำลง เนื่องจากผลผลิตที่มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในกลุ่มธัชพืชลดลงถึง -6.8% เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสหรัฐฯ และ ข้าวสาลีในออสเตรเลียและเอเชียกลางที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ