คลังถกแบงก์รัฐเตรียมออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 11, 2017 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างการหารือกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเพื่อออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยฟื้นฟูลูกค้าของธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ โดยเบื้องต้นต้องการให้ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 3% ซึ่งกระทรวงการคลังได้ขอให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไปพิจารณาไว้หลายทางเลือก โดยหนึ่งในทางเลือกนั้น คือ การคิดดอกเบี้ย 0% ในปีแรกของการให้สินเชื่อ ซึ่งแต่ละธนาคารจะไปพิจารณาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการของแต่ละธนาคารพิจารณาเห็นชอบต่อไป

สำหรับสินเชื่อการฟื้นฟูสถานการณ์น้ำท่วมใต้ที่จะออกมานั้น เป็นคนละส่วนกับมาตรการทางการเงินที่ธนาคารรัฐบางแห่ง เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ออกไปก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่มาตรการทางการเงินที่ออกมาใหม่นี้ จะเน้นการฟื้นฟูทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และการประกอบธุรกิจ เป็นต้น

นายกฤษฎา กล่าวว่า ภาคเอกชนได้ประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ไว้ที่ประมาณ 1-1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมน้อยมาก เนื่องจากไม่ได้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเหมือนเช่นน้ำท่วมใหญ่ปี 54 โดยกระทรวงการคลังจะขอไปพิจารณาผลกระทบที่ชัดเจนอีกครั้ง โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 สามารถขยายตัวได้ 3.2% ส่วนในปี 60 คาดว่าขยายตัวได้ 3.8-4% อย่างไรก็ตาม มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก กระทรวงการคลังจึงต้องออกมาตรการทางการเงินมาช่วยเหลือเพิ่มเติม

สำหรับมาตรการทางภาษีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ให้ผู้บริจาคช่วยเหลือภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 มี.ค.59 ลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า โดยสามารถนำไปยื่นแบบและหักลดหย่อนได้ปี 61

ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวถึงการจัดเก็บรายได้รัฐบาล 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.-ธ.ค.59) ว่า สามารถจัดเก็บได้แล้ว 5.52 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2.7 หมื่นล้านบาท หรือ 5.2% เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรเกินเป้าหมาย 2,000 ล้านบาท การนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจเกินเป้า 1.1 หมื่นล้านบาท ส่วนการเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตต่ำกว่าเป้า 2,100 ล้านบาท และกรมศุลกากรเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการจัดงานเปิดตัวโครงการแก้ไขหนี้นอกระบบแบบบูรณาการในปลายเดือนม.ค.นี้ โดยในงานคาดว่าจะมีการมอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจปล่อยกู้พิโกไฟแนนซ์ ที่ตอนนี้มีผู้ยื่นเรื่องมาให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว 16 ราย คาดว่าจะพิจารณาได้แล้วเสร็จในไม่ช้า เพราะเงื่อนไขไม่มากนัก เพียงแค่เป็นนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยผู้บริหารและกรรมการไม่มีประวัติเสียหาย เป็นต้น

นายกฤษฎา ยังคาดว่าภายในเดือนม.ค.นี้ กฎหมายการห้ามคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกำหนดจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยกดดันให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะมีการเพิ่มโทษหนักขึ้น ทั้งโทษจำคุกจากเดิม 1 ปี เป็น 2 ปี หรือโทษปรับจากเดิม 1,000 บาท เป็น 2 แสนบาท โดยเจ้าหนี้นอกระบบที่เข้ามาเป็นพิโกไฟแนนซ์สามารถปล่อยกู้คิดอัตราดอกเบี้ยได้ถึงไม่เกิน 36% จากที่ปล่อยกู้นอกระบบคิดได้ไม่เกิน 15%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ