พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ พิจารณาทบทวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 รวม 519 เมกะวัตต์ หลังขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าตามกฎหมายหน่วยราชการไม่สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายได้
ดังนั้น กพช.จะพิจารณาว่าจะปรับรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวอย่างไร โดยเบื้องต้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นโซลาร์ฟาร์ม อาจจะเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่น และอาจจะเป็นรูปแบบของการประมูลไม่ใช่การจับสลากเหมือนครั้งที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี หรืออาจใช้เป็นการดำเนินการในรูปแบบของโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชน ที่ในแต่ละชุมชนจะมีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง โดยจะมีการพิจารณารายละเอียดในการประชุม กพช.ครั้งนี้
"ขณะนี้มีความชัดเจนว่าในส่วนโซลาร์ฟาร์มของหน่วยงานราชการอาจจะดำเนินการไม่ได้ เราได้ข้อมูลจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าส่วนราชการไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายทำไม่ได้ ก็กำลังจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ กพช.ทบทวนเรื่องการดำเนินการ เพราะมีปัญหาข้อกฎหมาย"พล.อ.อนันตพร กล่าว
อนึ่ง เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 1 กำลังผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 800 เมกะวัตต์ โดยในระยะที่ 1 เป็นการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในส่วนของสหกรณ์ภาคการเกษตร 400 เมกะวัตต์ แต่สามารถคัดเลือกได้ทั้งสิ้น 67 ราย รวม 281.32 เมกะวัตต์ ทำให้มีโควตาส่วนสหกรณ์ที่เหลืออีก 119 เมกะวัตต์ ที่จะนำไปรวมกับโควตาส่วนราชการ 400 เมกะวัตต์ เพื่อเปิดรับซื้อระยะที่ 2 รวม 519 เมกะวัตต์ต่อไป
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า การปรับรูปแบบใหม่ของโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯระยะ 2 นั้น อาจจะถูกรวมในการส่งเสริมโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากของชุมชนในลักษณะ Social Enterprise ซึ่งอยู่ในแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวงในปีนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุม กพช. ด้วย
นอกจากนี้ ตามแผนงานในปีนี้กระทรวงพลังงานจะส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และมีการขายไฟฟ้าได้ โดยไม่เป็นภาระด้านค่าไฟฟ้า ซึ่งเรื่องดังกล่าวมอบหมายให้การไฟฟ้ารับไปศึกษา เพื่อไม่ให้อัตราค่าไฟฟ้ากระทบต่อผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ตลอดจนจะส่งเสริมให้เกิดการวิจัยด้านการผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) และการขับเคลื่อนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามโรดแมพ
รวมถึงจะผลักดันการกระจายเชื้อเพลิงตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 58-79 (PDP2015) ให้ได้ตามแผน รวมถึงการผลักดันร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตลอดจนการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ ,การพัฒนา Smart City/Smart Grid ,การขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการซื้อขายไฟฟ้า, การกำหนดแนวทางการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ ,การบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างสมดุลในช่วงทิศทางราคาน้ำมันขาขึ้น ,การส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ,การเปิดให้มีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เสรี
"สิ่งที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ คือเรื่องของพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งอาจจะกระทบต่อการประมูลปิโตรเลียมที่จะหมดอายุและการเปิดปิโตรเลียมรอบใหม่ รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังเป็นความเสี่ยง"รมว.พลังงาน กล่าว