นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.เกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวครั้งแรกภายหลังเข้ารับตำแหน่งว่า งานหลักที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบ คือ เรื่องของมาตรการสินค้าเกษตร สุขอนามัย มาตรการระหว่างประเทศ และภายในประเทศทั้งหมด เนื่องจากปีนี้กระทรวงฯ มีเป้าหมายดำเนินการให้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงอยากสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการมาตรฐานด้านสินค้าเกษตรมักจะพูดถึงเรื่องมาตรการด้านความปลอดภัย ก็จะต้องทำให้ผู้บริโภคตระหนักและเข้าใจถึงความหมายของสินค้าปลอดภัย สินค้าอินทรีย์ ว่าเป็นสินค้าที่มีกรรมวิธีในการผลิตสมควรจะได้ขายสินค้าในราคาสูงเพราะเป็นสินค้าพรีเมียม
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯจะหารือกับกระทรวงพาณิชย์ในการหาตลาดให้สินค้าเหล่านั้นและใช้ทุกเครื่องมือที่มี เช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จะเป็นผู้ทำให้สินค้าปลอดภัยและสินค้าอินทรีย์มีที่วางจำหน่าย โดยเร็วๆนี้จะเปิดพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ตลาด อ.ต.ก.
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดคำจำกัดความเกี่ยวกับสินค้าเกษตรไว้ 2 ประเภท ได้แก่ เกษตรปลอดภัย หรือ เกษตรที่ได้รับรองมาตรฐาน Good Agricultural Practice (GAP) คือ “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตพืชเพื่อเก็บเกี่ยวผลิตผลสำหรับใช้เป็นอาหาร เช่น พืชผัก ไม้ผล พืชไร่ พืชเครื่องเทศ พืชสมุนไพร ทุกขั้นตอนของการผลิตในระดับฟาร์มและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งมีการบรรจุ และ/หรือรวบรวม ผลิตผลเพื่อจำหน่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ผลิตผลที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการบริโภค โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน"
เกษตรอินทรีย์ คือ “ระบบการจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศน์ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจากการสังเคราะห์ และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากการดัดแปลงพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์ และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน"
รมช.เกษตรฯ กล่าวต่อถึงแผนข้าวครบวงจรนั้น ได้มีการจัดตั้งอนุกรรมการจัดทำแผนข้าวครบวงจรขึ้นมาใหม่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงตัวคณะอนุกรรมการบางคน ส่วนแผนงานกระทรวงพาณิชย์กำลังเป็นแม่งานจัดทำแผนนี้เพื่อเสนอ นบข.และกระทรวงเกษตรฯมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนในเรื่องของภาคการผลิต เพราะแผนข้าวครบวงจรจะมีแผน 4 ช่วง ช่วงแรก คือ กำหนดดีมานด์เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯทราบว่าควรจะผลิตเท่าไหร่ จะได้ไม่มีข้าวส่วนเกินในตลาดมากเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบราคา
ช่วงที่ 2 กำหนดว่าจะทำการผลิตข้าวให้ได้คุณภาพหรือให้ได้ปริมาณทตามที่ต้องการที่ไหนอย่างไร จะมีการประกาศการส่งเสริมพื้นที่โดยใช้เครื่องมือ Agri-map และจะต้องยกระดับคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตอย่างชัดเจน รวมทั้งชวนเชิญเกษตรกรรวมตัวกันเป็นนาแปลงใหญ่ ซึ่งปีนี้เป้าหมายอยู่ที่ 1,500 ไร่
ช่วงที่ 3 แผนช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นแม่งานจัดรถเก็บเกี่ยวให้เพียงพอต่อปริมาณข้าวที่ผลิตออกมา ซึ่งปีที่แล้วมีปัญหาเรื่องรถเก็บเกี่ยวไม่เพียงพอ ปีนี้ก็ต้องจัดการให้ดีกว่านั้น
ช่วงที่ 4 หาตลาดและขับเคลื่อนให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปี 59 เราส่งออกข้าวประมาณ 9.7 ล้านตัน ทะลุเป้าที่ 9.5 ล้านตัน
"เอาแผนเดิมที่วางไว้มาทบทวนและอุดช่องโหว่ที่เราพบจากประสบการณ์ในปีที่แล้ว คือเราพยายามบอกเกษตรกรว่าเราห้ามท่านไม่ได้หรอกนะว่าจะปลูกหรือไม่ปลูก แต่เราบอกได้ว่าปลูกไปก็ไม่เหมาะกับพื้นดิน จะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นมั้ย ก็จะมีการเชิญชวนเปลี่ยนถาวรกับเปลี่ยนชั่วคราว เปลี่ยนถาวรคือต่อให้ทำยังไงก็ไม่คุ้มทุน เปลี่ยนชั่วคราวคือตรงพื้นที่ที่เกษตรกรทำผลผลิตออกเยอะราคาจะไม่ดี ลองเปลี่ยนทำอย่างอื่นที่จะราคาดี เช่น ข้าวโพด ถั่ว สมุนไพร แล้วก็สอนวิธีปลูก หาพันธุ์ และมีเงินช่วยเหลือให้"รมช.เกษตรฯ กล่าว