นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตามที่เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด ในช่วงวันที่ 1-10 ม.ค.60 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินและต่อครัวเรือนในวงกว้างนั้น ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์และความเดือดร้อนของประชาชนอย่างใกล้ชิด
สำหรับความเสียหายในภาพรวมคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ส่วนผลกระทบระยะสั้นส่วนใหญ่เป็นผลกระทบในภาคเกษตร โดยเฉพาะยางพารา เนื่องจากชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ ทั้งพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ที่ฝนตกหนัก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของพื้นที่สวนยางภาคใต้ทั้งหมด คาดว่าจะทำให้ผลผลิตยางในเดือน ม.ค.จะลดลงประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ส่วนปาล์มน้ำมันไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ และผลผลิตที่เก็บได้ก็มีอัตราการให้น้ำมันลดลง ขณะที่ผลผลิตกุ้งได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากเกษตรกรชะลอการลงลูกกุ้งตั้งแต่ปลายปี 59 แล้ว เพราะเป็นช่วงมรสุม
ด้านการท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบไม่มากเช่นกัน โดยเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีนักท่องเที่ยวยกเลิก booking ในช่วงนี้บ้าง แต่การท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันที่ได้รับผลกระทบบ้างจากน้ำท่วมใน จ.กระบี่ แต่ขณะนี้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยภาครัฐและผู้ประกอบการได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวรับทราบสถานการณ์ที่แท้จริงอย่างทั่วถึง
ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบที่ส่งเข้าสู่โรงงานน้อยลง เช่น โรงงานน้ำยางข้น โรงงานปาล์มน้ำมัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรงงานแปรรูปยางบางแห่งยังมีวัตถุดิบในสต็อก จึงยังสามารถทำการผลิตได้ แต่ก็อาจประสบปัญหาการเดินทางของแรงงานบ้าง
ขณะที่ภาคการค้า มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs ใน อ.ทุ่งสง และ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมหนักอยู่ในเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม รายได้บางส่วนจะถูกชดเชยด้วยการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคบริจาคให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม และการเร่งใช้จ่ายหลังน้ำลดเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน ประกอบกับ จะมีเงินช่วยเหลือภาครัฐ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้หลังน้ำท่วม