ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความสามารถในการแข่งขัน SME Q4/59 ยังทรงตัวจาก Q3/59 มองศก.ฟื้นตัว H2/60

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 12, 2017 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SME ประจำไตรมาส 4/2559 อยู่ที่ระดับ 48.4 ทรงตัวจากไตรมาส 3/2559

และจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 53.5% ตอบว่ายอดขาย/รายได้ ในปี 59 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยผู้ประกอบส่วนใหญ่มองว่าธุรกิจจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 60

ทั้งนี้ ธุรกิจที่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวได้ชัดเจนที่สุด คือ ธุรกิจท่องเที่ยว รองลงมา คือ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการ 48.2% ระบุว่าจะเริ่มพร้อมลงทุนอีกครั้งในไตรมาสที่ 2/2560 ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนในเรื่องของการจัดซื้อวัตถุดิบ การจ้างงาน การซื้อ/ซ่อมแซมเครื่องจักร

“การที่ผู้ประกอบการจะเริ่มกลับมาลงทุน เป็นการตอบรับเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มดีขึ้นจึงเริ่มลงทุนซื้อวัตถุดิบ เครื่องจักร อุปกรณ์ และเริ่มมีการจ้างงาน ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง อัตราการว่างงานน่าจะเหลือที่ราว 0.9%" นายธนวรรธน์ ระบุ

สำหรับดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SME ในปี 2560 นั้น คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ 48.6 ส่วนครึ่งปีหลังอยู่ที่ 49.1 โดยดัชนีฯ จะมีค่าสูงสุดเท่ากับ 100 และมีค่าต่ำสุดเท่ากับ 0 ทั้งนี้แผนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในปีนี้จะให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องมาเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ การลดต้นทุน, การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย/ทำตลาดในเชิงรุก, การขยายตลาดหรือช่องทางการจำหน่าย และการทำตลาดโดยใช้สื่อออนไลน์

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงปัจจัยบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของ SME ในปีนี้ว่า ได้แก่ 1. การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่, การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี 2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีผลต่อการบริโภคของภาคเอกชนอย่างชัดเจน 3.มูลค่าการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง 4.ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัว 5.ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ 6.การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และ 7.สถานการณ์การเมืองในประเทศค่อนข้างมีเสถียรภาพ

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ 1.นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ซึ่งมีผลให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก 2.การแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ชัดเจน และความกังวลภัยก่อการร้ายที่มีผลให้การค้าการลงทุนของโลกซบเซา 3.การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีกหลายครั้งในปีนี้ 4.เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัญหาในภาคการเงิน และภาคอสังหาริมทรัพย์ 5.สัดส่วนหนี้สินภาคครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูง ทำให้อำนาจซื้อลดลง 6.สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ เพราะตัวเลข NPL มีแนวโน้มสูงขึ้น และ 7.มาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญมีผลทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ