พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ระบุว่ากระทรวงพลังงาน มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งร่างกฎหมายลูกทั้ง 5 ฉบับ เพื่อรองรับการออกพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จะออกมา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กระบวนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 65-66 สามารถดำเนินการได้ทันภายในปี 60 ตามแผนเดิม
ขณะที่ล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ขยายเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับออกไปเป็นครั้งที่ 5 อีก 30 วัน สิ้นสุด 19 ก.พ.จากเดิมสิ้นสุด 21 ม.ค.60
"หากสนช.พิจารณาแล้วเสร็จก็จะสามารถนำกฎหมายลูกทั้ง 5 ฉบับมาปรับแก้ไขได้ทัน ก็จะทำให้กระบวนการเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุดำเนินการได้เร็วและทันภายในปีนี้"พลเอกอนันตพร กล่าว
พลเอกอนันตพร กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะรายงานสถานการณ์ดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 17 ก.พ.นี้ โดยเบื้องต้นจะยังไม่ขอเลื่อนกำหนดการประมูลแหล่งปิโตรเลียมจากเดิมที่ กพช.กำหนดให้ประมูลเสร็จภายในเดือนก.ย.60 เพราะเชื่อว่าจะยังดำเนินการได้ภายในปีนี้
ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงได้เร่งจัดทำกฎหมายลูก 5 ฉบับ เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่) พ.ศ....และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม(ฉบับที่) พ.ศ...โดยกฏหมายลูกจะเสร็จภายในเดือนมี.ค.นี้
ขณะที่ร่างกฎหมายลูกบางฉบับได้ร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น หลักกกณฑ์การคัดเลือกแปลงปิโตรเลียมใดให้เหมาะสมกับการเปิดประมูลในรูปแบบใด ทั้งรูปแบบการให้สัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบรับจ้างผลิต (SC) ซึ่งจะดูทั้งปริมาณสำรองและรูปแบบที่จะจูงใจให้เอกชนยื่นประมูลแข่งขัน โดยหลักเกณฑ์นี้จะครอบคลุมทั้งเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง
อย่างไรก็ตามมีความเป็นห่วงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน หากการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุทั้ง 2 แหล่ง ได้แก่ บงกช และเอราวัณ มีความล่าช้าออกไป อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ ในปี 64 เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่มี ทั้งคลังรับก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ที่นำเข้า กับปริมาณการผลิตก๊าซฯในประเทศ อาจต่ำกว่าความต้องการใช้ จึงมอบหมายให้บมจ.ปตท. (PTT) พิจารณาศึกษาลงทุนขยายคลัง LNG แห่งที่ 1 จากปัจจุบันได้รับอนุมัติ ก่อสร้างรองรับนำเข้ารวม 11.5 ล้านตัน/ปี เป็น 15 ล้านตัน/ปี โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แต่ยังคงต้องรอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาเห็นชอบอย่างเป็นทางการก่อน