นายกอบสิทธิ์ ศิลปะชัย ผู้บริหารงานวิจัยและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพราะเศรษฐกิจภาคใต้มีสัดส่วนเพียง 8.6% ของผลผลิตมววลรวมในประเทศ (GDP) ของไทย อีกทั้งหลังจากน้ำท่วมได้ผ่านพ้นไปคาดว่าจะมีการซ่อมแซมบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆกลับมาเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากน้ำท่วมผ่านพ้นไปแล้ว ดังน้น ธนาคารจึงยังคงคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้เติบโตได้ 3.3%
ขณะที่มองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ การลงทุนของภาครัฐที่จะเริ่มมีความชัดเจน ซึ่งธนาคารคาดหวังจะเห็นภาครัฐมีการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบ และเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นหนึ่งแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฏหมายบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อภาพรวมภาคการท่องเที่ยวของไทย
ส่วนภาคการส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 1-2% โดยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังพึ่งพาสินค้าดั้งเดิม และความต้องการของตลาดโลกยังคงชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ซึ่ง GDP ของโลกในปีนี้มีการขยายตัวได้เพียง 2.7% ทำให้การส่งออกในภาพรวมคงยังไม่เห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่จะเข้ามากระทบกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังเป็นปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ที่อาจจะมีประเด็นในเรื่องสงครามการค้าระหว่างประเทศที่อาจจะมีนโยบายในการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนราว 46% หากมีการกีดกันทางการค้าก็จะทำให้รายได้ของภาคธุรกิจจีนและประชากรของจีนลดลง ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงตาม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยที่ยังคงพึ่งพิงนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก "สิ่งที่จะต้องติดตาม คือ การดำเนินนโยบายของนายทรัมป์ หลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเห็นการดำเนินนโยบายออกมาได้จริงหรือไม่และเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ด้านแนวโน้มค่าเงินบาท คาดว่า สิ้นปี 60 จะอยู่ที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1/60 ที่ธนาคารคาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพียงเล็กน้อยนั้นเป็นเพราะประเทศไทยยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกิดดุลกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 1.8%
ประกอบกับ ธนาคารยังมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯในปีนี้เพียง 1 ครั้ง ซึ่งมีมุมมองแตกต่างจากนางเจนเนต เยลเลน ประธานเฟด ที่ประเมินว่าจะขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯในปีนี้ถึง 3 ครั้ง
"ธนาคารมองว่าหากสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยบ่อยเกินไปจะส่งผลให้ส่วนอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ มีส่วนต่างเพียงเล็กน้อย และมีผลทำให้กระแสเงินจะไหลเข้ามาในตลาดเงินสหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งเป็นการนำพาเงินฝืดกลับเข้ามาสหรัฐฯอีกครั้ง" นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ในปีนี้ เพราะประเทศไทยยังไม่จำเป็นจำเป็นที่ต้องรีบปรับขึ้น เพราะอยู่ในช่วงของการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ฟื้นตัวดีอย่างชัดเจน แต่ธนาคารคาดว่าในปี 61 มีโอกาสที่ กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังจากผ่านช่วงการเลือกตั้งไปแล้ว