ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินผลกระทบน้ำท่วมภาคใต้ ตั้งแต่ 2 ม.ค.60 ที่ผ่านมา กระทบกับพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวภาคใต้ น่าจะทำให้เม็ดเงินหายจากเศรษฐกิจภาคใต้ประมาณ 27,400 ล้านบาท โดยชาวสวนยางพาราได้รับผลกระทบที่สุด เพราะฝนตกต่อเนื่อง น้ำท่วม และการขนส่งถูกตัดขาด ทำให้ผลผลิตยางทั้งระบบลดลง 281,000 ตัน หรือ 6.3% ของปริมาณยางทั้งปีทั่วประเทศ คิดเป็นเม็ดเงิน 19,124 ล้านบาท ธุรกิจผลิตยางแผ่น/ยางแท่ง รมควันยาง น้ำยางข้น จำเป็นต้องหยุดผลิตชั่วคราว
ด้านปาล์มน้ำมัน คาดผลผลิตลดลงกว่า 5 แสนตัน หรือ 4.8% ของปริมาณผลผลิตทั้งปีทั่วประเทศ มูลค่าประมาณ 2,939 ล้านบาท โดยจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานีและชุมพร เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มสำคัญที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่งผลต่อธุรกิจลานปาล์ม โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบอาจมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ
"TMB Analytics คาดว่าผลผลิตที่ลดลงจะเกิดเพียงช่วงสั้นๆ เนื่องจากยางพารา และปาล์ม จะกลับมาผลิตได้ตามปกติหลังน้ำลด แตกต่างจากธุรกิจค้าปุ๋ยและเคมีเกษตร ซึ่งขายสินค้าให้ชาวสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน แม้ว่าเกษตรกรจะกลับมาเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ แต่ยอดขายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เดือนมกราคมจะลดลงประมาณ 282 ล้านบาท และรายได้ธุรกิจชะลอตัวไปอีกระยะหนึ่ง เพราะเกษตรกรมีรายจ่ายเพิ่มจากการฟื้นฟูซ่อมแซมที่พักและยานพาหนะหลังน้ำท่วม" บทวิเคราะห์ ระบุ
ส่วนฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญตามแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม คาดว่าทำให้ผลผลิตกุ้งลดลงกว่า 4,500 ตัน มูลค่าประมาณ 838 ล้านบาท และต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน เพื่อฟื้นฟูการเพาะเลี้ยงกุ้งให้เข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับเรือประมง โดยเฉพาะเรือขนาดเล็กยังถูกห้ามออกจากฝั่งเพราะลมมรสุมรุนแรง จึงต้องหยุดทำประมงไปโดยปริยาย ทำให้สูญเสียโอกาสจากการขายปลาและสัตว์น้ำคิดเป็นมูลค่าประมาณ 751 ล้านบาท กระทบกับธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล อาหารทะเลกระป๋อง ล้ง แพปลา
แม้ว่าน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก แต่ก็กระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ซึ่งเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวเช่นกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยว เกิดความไม่มั่นใจในสถานการณ์ บางส่วนอาจยกเลิก หรือชะลอการเดินทางเพื่อรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนขึ้น ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านสนามบินต่างๆ และยอดเข้าพักแรมลดลง คิดเป็นการเสียโอกาสสร้างรายได้ประมาณ 3,533 ล้านบาท โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต แม้ไม่มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม แต่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทาง ทำให้เสียโอกาสสร้างรายได้กว่า 1,200 ล้านบาท หากเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลายทั้งหมดก่อนเดือนกุมภาพันธ์ มูลค่าความเสียหายจะลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม หลังภาวะน้ำท่วมคาดว่าเศรษฐกิจภาคใต้จะฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็ว จากการเร่งใช้จ่ายเพื่อบูรณะฟื้นฟูของประชาชน การลงทุนปรับปรุงซ่อมแซมสาธารณูปโภคต่างๆ ของรัฐ รวมถึงราคายางพาราที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะผลผลิตที่ลดลงเนื่องจากน้ำท่วมครั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนจึงมีรายได้สำหรับจับจ่ายใช้สอยออกสู่เศรษฐกิจภาคใต้มากขึ้น
"เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจขายสินค้าอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้าง อู่ซ่อมรถ อีกทั้งยังมีโอกาสทยอยระบายสต็อกยางพาราของรัฐฯ ในช่วงที่ผลผลิตลดลงเพราะน้ำท่วม เพื่อไม่ให้สต็อกยางกดดันราคายางให้ลดลงในอนาคต เรียกว่าฝันร้ายกำลังจะผ่านไป ข่าวดีก็ต่อคิวเข้ามาต่อเนื่องให้เศรษฐกิจภาคใต้ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว" บทวิเคราะห์ ระบุ