นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สมอ. กำลังอยู่ระหว่างการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพิจารณาออกใบอนุญาต (E-License) เพื่อรองรับ Industry 4.0 และเพิ่มช่องทางการให้บริการรับคำขอใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะเริ่มนำระบบดังกล่าวมาใช้ประมาณกลางปีนี้
สำหรับมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการให้ความช่วยเหลือชาวเกษตรกรสวนยางพาราจากวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยางแล้วจำนวน 7 มาตรฐาน ได้แก่ แอสฟัลต์ซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ แผ่นยางปูพื้น บล็อกยางปูพื้น แผ่นยางปูสนามฟุตซอล ฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอน ฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำที่นอน และน้ำยางคอมพาวด์เคลือบผ้าปูสระกักเก็บน้ำ
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สมอ. ได้จัดสัมมนา เพื่อขอข้อคิดเห็นแผนหลักโครงการจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 14 พ.ย.59 ที่โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยที่ปรึกษาได้ปรับปรุงแผนหลักโครงการตามข้อคิดเห็น และ สมอ. เห็นชอบแล้ว
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สมอ. ยังมีงานสำคัญอีกหนึ่งโครงการที่ สมอ. เปิดตัวไปเมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมากับโครงการ “ร้าน มอก.” จัดทำขึ้น เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. และประกาศเกียรติคุณแก่ร้านจำหน่ายสินค้าที่ใส่ใจในความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานมากขึ้น โดย สมอ. ดำเนินการรับสมัครผู้ประกอบการ คัดเลือก และส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ หากผ่านเกณฑ์กำหนดจะมอบป้ายสัญลักษณ์ “ร้าน มอก.” โดยมีอายุการรับรอง 3 ปี ซึ่งขณะนี้มีร้านจำหน่ายทั่วประเทศได้รับป้ายสัญลักษณ์ “ร้าน มอก.” ไปแล้วจำนวน 8 ราย รวม 434 สาขา
ขณะเดียวกันมีร้านจำหน่ายสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 ราย โดย สมอ. มีแผนการดำเนินงานที่จะขยายเครือข่ายร้าน มอก. ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้สินค้าได้ด้วยความมั่นใจ และปลอดภัย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 5 ปี จะมีร้าน มอก. ครบ 10.000 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรก ช่วงเดือนต.ค. – ธ.ค.59 นายพิสิฐ กล่าวว่า สมอ. ได้ปรับปรุงกระบวนการกำหนดมาตรฐานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเป็นไปตามนโยบาย S-Curve โดยมาตรฐานทั่วไปจากเดิมใช้เวลากำหนด 315 วัน ลดลงเหลือ 150 วัน มาตรฐานบังคับจากเดิมใช้เวลากำหนด 445 วัน ลดลงเหลือ 180 วัน
ขณะเดียวกันได้เร่งพัฒนาหน่วยงานเครือข่ายด้านการกำหนดมาตรฐาน (Standard Development Organization : SDO) มาช่วยดำเนินกำหนดมาตรฐาน ในรอบ 3 เดือน ได้กำหนดมาตรฐานกลุ่ม S-Curve แล้ว 32 เรื่อง
สำหรับการลดขั้นตอนการอนุญาตตามนโยบาย Ease of Doing Business ในการทำธุรกิจ และ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกของหน่วยงานอนุญาต เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการอนุญาต ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย สมอ. ได้ปรับกระบวนการออกใบอนุญาตเหลือเพียง 15 วันทำการ โดยการยอมรับผล SDoC และลดการตรวจประเมินโรงงานในต่างประเทศ โดยการขึ้นทะเบียนโรงงานในต่างประเทศมีอายุ 3 ปี พร้อมแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่โรงงานต้องปฏิบัติภายหลังการขึ้นทะเบียนให้โรงงาน เพื่อลดภาระต้นทุนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้าสินค้าที่ได้มีการนำเข้าจากโรงงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว นอกจากนี้ ได้ถ่ายโอนงานการตรวจประเมินโรงงานให้หน่วยรับรองหน่วยตรวจ (Inspection Body-IB) ดำเนินงานแทน สมอ. ปัจจุบัน สมอ. แต่งตั้ง IB แล้ว 14 หน่วยงาน และเริ่มถ่ายโอนงานแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.59 มีมาตรฐานที่ถ่ายโอนในครั้งแรกจำนวน 173 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานบังคับจำนวน 43 มาตรฐาน คิดเป็น 40% ของงานของ สมอ. และหลังจากที่ สมอ. ได้ปรับลดขั้นตอนการอนุญาตลง ตั้งแต่เดือนส.ค.-พ.ย.59 สมอ. ได้ดำเนินการออกใบอนุญาต ให้ผู้ทำ ผู้นำเข้า ไปแล้วทั้งสิ้น 1,258 ฉบับ และใช้ระยะเวลาการออกใบอนุญาตโดยเฉลี่ยเพียง 10 วันทำการ/เรื่อง เท่านั้น