นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากรายงานสรุปสำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงพลังงาน ถึงการเข้าร่วมสัมมนาผ่านเว็บไซด์ (webinar) เรื่อง ถ่านหินในอาเซียนหลังจากข้อตกลงปารีส ซึ่งจัดโดย ศูนย์พลังงานอาเซียน (ACE) โดยประเด็นสำคัญของการสัมมนาครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้รับทราบแนวโน้มกำลังผลิตถ่านหินทั่วโลก ในอีก 10 ปีข้างหน้าซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 1 พันล้านตัน โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังผลิตในทวีปเอเชีย และเชื้อเพลิงถ่านหินยังเป็นตัวขับเคลื่อนพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าสัดส่วนการใช้ในภาพรวมจะเพิ่มจาก 46% ในปัจจุบัน เป็น 60% และสัดส่วนการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 32% เป็น 50% ภายในปี 2583 หรืออีก 23 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ สถานการณ์เชื้อเพลิงถ่านหินภายหลังข้อตกลงปารีส (Cop 21) เบื้องต้นจากรายงานสรุปพบว่า เทคโนโลยีถ่านหินประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษต่ำ (HELE) ยังคงพัฒนาได้ต่อไป รวมทั้งแนวโน้มการลดลงของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 25-30% ควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS) โดยจากข้อตกลงปารีส ในการประชุม Cop 21 ต้องการทำให้ CCS ดังกล่าวเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ซึ่งทบวงพลังงานโลก หรือ IEA คาดการณ์ว่าจะสามารถดักจับและเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปริมาณสูงถึง 4,000 ล้านตัน ภายในปี 2583
นายสราวุธ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับสถานการณ์เชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศไทย ยังคงเป็นหนึ่งในทางเลือกการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว ปี 58-79 (PDP 2015) เนื่องจากนโยบายสำคัญของกระทรวงพลังงาน จำเป็นต้องให้เกิดการสร้างความสมดุลของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยความต้องการเชื้อเพลิงถ่านหิน จะเพิ่มขึ้น 20-25% ภายในปี 2579 ตามแผน PDP เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพลังงานใดพลังงานหนึ่งมากเกินไป รวมทั้งเชื้อเพลิงจากถ่านหินยังมีราคาที่มีเสถียรภาพ เพื่อไม่สร้างภาระค่าไฟฟ้าที่จะกระทบต้นทุนภาคการผลิต และค่าครองชีพของประชาชนในอนาคต โดยจากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในปัจจุบัน กระทรวงพลังงานเชื่อมั่นว่าจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้อีกด้วย