นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กรอบวงเงินแผนงานบูรณาการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด, กองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ และงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ
"เป็นครั้งแรกที่ให้งบฯกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการยกระดับการพัฒนา ...เพื่อให้งบฯ มีการลงไปสู่พื้นที่"นายกอบศักดิ์ กล่าว
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 ตามการเสนอของสำนักงบประมาณ ในวงเงิน 190,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.แผนงานบูรณาการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ จำนวน 115,000 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 80,000 ล้านบาท, กองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ 20,000 ล้านบาท, งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ 15,000 ล้านบาท
2.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท 3.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 15,000 ล้านบาท 4.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 27,078 ล้านบาท และ 5.งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 22,921 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 8 หมื่นล้านบาทนั้น จะมีแนวทางการดำเนินการใน 5 แนวทาง คือ 1.การเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน เพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตและขับเคลื่อน SME พัฒนาเส้นทางสายหลัก ท่าเรือ การพัฒนาคุณภาพสินค้า การนำนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่า การส่งเสริมการตลาด เพิ่มช่องทางการขาย นิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2.เพิ่มศักยภาพภาคการเกษตร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เกษตรแปลงใหญ่ การขยายช่องทางตลาด
3.เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวและบริการ การพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และเชิงคุณภาพ การเชื่อมโยงโครงข่ายแหล่งท่องเที่ยว และระบบการจัดการด้านการท่องเที่ยว การติดตั้งกล้อง CCTV 4. การพัฒนาสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะ การบริหารจัดการน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาหมอกควัน การพัฒนาอาชีพและถ่ายทอดความรู้ การจัดที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาผู้บุกรุกและผู้ไร้ที่อยู่ 5.โครงการพัฒนาพิเศษขนาดใหญ่ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องมีการจัดทำแผนระยะปานกลาง และจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน เช่น อยุธยาเมืองมรดกโลก, การพัฒนาบึงสีไฟ, การก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น "ครม.บอกว่ายังมีโครงการที่เหลืออีกหลายหมื่นล้านบาท จึงได้สั่งให้นำกลับไปพัฒนาและนำกลับมาเสนอในปี 61 อีกครั้ง ขณะเดียวกันให้แต่ละจังหวัดทำแผนระยะปานกลาง 5 ปี เพื่อรองรับด้วย ซึ่งในอนาคตนี่คือจุดเปลี่ยนของแต่ละจังหวัด จะเป็นการปฏิรูปวิธีการทำงบประมาณ ยกระดับการทำยุทธศาสตร์ร่วมกันของกลุ่มจังหวัด เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ"นายกอบศักดิ์ กล่าว
พร้อมกันนี้ ในส่วนของกองทุนพัฒนา SME นั้น ครม.ได้มีมติจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนสำหรับการพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ ซึ่งกองทุนนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน Thailand 4.0 และเปลี่ยนแปลงประเทศไทยจากการเพิ่มมูลค่ามาเป็นสร้างนวัตกรรมแทน ใน 5 กลุ่มสินค้า คือ กลุ่มอาหาร เกษตร ชีวภาพ, กลุ่มสุขภาพ สาธารณสุข การแพทย์, กลุ่มเครื่องมืออัจฉริยะ หุ่นยนต์, กลุ่มดิจิตอล และกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ "เรามองเห็นปัญหาว่าผู้ประกอบการบางส่วนมีปัญหาด้านเงินทุน ไม่สามารถต่อยอดได้ จึงได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐขึ้นมา เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและเป็นช่องทางในการเข้าถึงแหล่งทุนให้ผู้ประกอบการได้มีศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจ" นายกอบศักดิ์ กล่าว