นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2560 จากผู้บริหารระดับสูง (CEO Survey) ส่วนใหญ่ 48.98% ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ยังอยู่ในภาวะทรงตัว รองลงมา 34.69% เชื่อว่ามีแนวโน้มขยายตัว ส่วนที่เหลืออีก 16.33% เชื่อว่าหดตัว
ในจำนวนผู้บริหารระดับสูงที่เชื่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวนั้น ส่วนใหญ่ 70.59% ระบุว่าจะขยายตัว 1-5% ตามด้วย 5.88% ระบุว่าจะขยายตัว 6-10%, 5.88% ระบุว่าจะขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และอีก 17.65% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงที่เชื่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะหดตัวนั้น ส่วนใหญ่ 37.50% ระบุว่าจะหดตัว 1-10% ตามด้วย 25.00% ระบุว่าจะหดตัว 11-20%, 12.50% ระบุว่าจะหดตัวมากกว่า 20% ขึ้นไป และอีก 25.00% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ขณะที่การคาดการณ์ของผู้บริหารระดับสูงต่อแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมในปี 2560 นั้น ส่วนใหญ่ 46.94% คาดว่าจะทรงตัว รองลงมา 30.61% คาดว่าจะขยายตัว ส่วนที่เหลืออีก 22.45% คาดว่าหดตัว
ในจำนวนผู้บริหารระดับสูงที่คาดการณ์แนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมในปี 2560 จะขยายตัวนั้น ส่วนใหญ่ 66.67% ระบุว่าจะขยายตัว 1-5% ตามด้วย 13.33% ระบุว่าจะขยายตัว 6-10%, 13.33% ระบุว่าจะขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และอีก 6.67% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงที่เชื่อของภาคอุตสาหกรรมในปี 2560 จะหดตัวนั้น ส่วนใหญ่ 45.45% ระบุว่าจะหดตัว 1-10% ตามด้วย 27.28% ระบุว่าจะหดตัว 11-20%, 9.09% ระบุว่าจะหดตัวมากกว่า 20% ขึ้นไป และอีก 18.18% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับปัจจัยบวกที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2560 นั้น ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 57.14% ระบุว่าเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รองลงมา 51.02% ระบุว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ ตามด้วย 38.78% ระบุว่าเป็นภาคการท่องเที่ยว, 30.61% ระบุว่าเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ, 26.53% ระบุว่าเป็นสถานการณ์ทางการเมือง, 20.41% ระบุว่าเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อในประเทศดีขึ้น และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และ 12.24% ระบุอื่นๆ ได้แก่ ภาคการส่งออกขยายตัว การลงทุนด้านภาคการเกษตร ราคาพืชผลทางการเกษตร และค่าแรงสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความกังวลในการดำเนินกิจการในปี 2560 ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 42.86% ระบุว่าเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รองลงมา 40.82% ระบุว่าเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความผัวผวนของตลาดเงินจากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ และกระบวนการในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร รวมถึงกำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามด้วย 34.69% ระบุว่าเป็นความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร, 32.65% ระบุว่าเป็นการขาดแคลนแรงงานฝีมือ, 30.61% ระบุว่าเป็นปัญหาสภาพคล่องของกิจการ, 24.49% ระบุว่าเป็นการขาดเทคโนโลยีการผลิตและการพัฒนานวัตกรรม, 22.45% ระบุว่าเป็นสถานการณ์ทางการเมือง และ 18.37% ระบุอื่นๆ ได้แก่ นโยบายของภาครัฐ ปัจจัยการนำเข้าและส่งออก ต้นทุนการผลิต ค่าแรงขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาท และการก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0
โดยผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 91.84% ระบุว่ามีการวางแผนและมีแนวทางรับมือ ส่วนที่เหลือ 8.16% ระบุว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนมากนักจากช่วงครึ่งหลังของปี 2559 และในจำนวนผู้บริหารระดับสูงที่ระบุว่ามีการวางแผนและมีแนวทางรับมือนั้นส่วนใหญ่ 44.44% ระบุว่ามีการวางแผนปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต รองลงมา 37.78% ระบุว่ามีการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ตามด้วย 28.89% ระบุว่ามีการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ, 26.67% ระบุว่าชะลอการลงทุน, 24.44% ระบุว่ามีการเจาะตลาด Niche Market, 20.00% ระบุว่ามีการเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา, 15.56% ระบุว่าเป็นการขยายการลงทุน, 11.11% ระบุว่ามีการขยายฐานการผลิตไปต่างประเทศ, 6.67% ระบุว่ามีการลดการจ้างงาน, 2.22% ระบุว่าเพิ่มการจ้างงาน และ 15.56% ระบุอื่นๆ ได้แก่ การปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจโลก การลดต้นทุนการผลิต การหาหุ้นส่วนเพิ่มเติม
สาเหตุการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ขยายตัวได้มากเท่าที่ควรนั้น ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 64.58% ระบุว่าขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ รองลงมา 45.83% ระบุว่าขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ตามด้วย 39.58% ระบุว่าภาคการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง, 29.17% ระบุว่าสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน นโยบายกระตุ้นและเร่งรัดการลงทุนยังไม่เอื้ออำนวยเพียงพอ, 22.92% ระบุว่าภาคเอกชนยังมีกำลังการผลิตเพลือค่อนข้างมาก และ 18.75% ระบุอื่นๆ ได้แก่ กำลังซื้อในประเทศ สถาบันการเงินไม่ตอบสนองเรื่องการลงทุนของเอกชน, สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเพื่อให้การลงทุนภาคเอกชนสามารถขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1.รัฐบาลควรพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และก้าวเข้าสู่ Industries 4.0 2.หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจากภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ความยืดหยุ่นของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาสำหรับผู้ประกอบการ 3.รัฐบาลควรเร่งพัฒนาวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม
สิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงต้องการให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2560 ผู้บริหารส่วนใหญ่ 71.43% ระบุว่า ภาครัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รองลงมา 48.98% ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ตามด้วย 40.82% ระบุว่า ภาครัฐควรสนับสนุนการขยายตลาดเข้าสู่หัวเมืองรองในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายฐานลูกค้าและกระจายสินค้าให้มากขึ้น, 32.65% ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี และเพิ่มช่องทางการส่งออก, 30.61% ระบุว่า ภาครัฐควรพัฒนาการค้าและการขนส่งชายแดนและผ่านแดนเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าตามแนวชายแดน และ 24.49% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การเพิ่มช่องทางตลาดใหม่ๆ, การคงอัตราค่าแรงขั้นต่ำ, การปรับปรุงกฎหมายที่ซ้ำซ้อน, การสนับสนุนนโยบายจากภาครัฐ, การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและภาคเอกชน, และการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs
ด้านความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลก ภายหลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 45 ของสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ 40.82% ระบุว่าจะทรงตัว รองลงมา 22.45% ระบุว่าจะขยายตัว 26.53% ระบุว่าจะหดตัว ส่วนที่เหลืออีก 10.20% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวนั้น 45.45% ระบุว่าจะขยายตัว 1-5%, 9.09% ระบุว่า ขยายตัว 6-10%, 18.18% ระบุว่าจะขยายตัวมากกว่า 10% ขึ้นไป และ 27.28% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจว่าจะขยายตัวเท่าใด ส่วนผู้ที่ระบุว่าทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกจะหดตัวนั้น 30.77% ระบุว่า หดตัว 1-10%, 23.08% ระบุว่าจะหดตัว 11-20% และ 46.15% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจว่าจะหดตัวเท่าใด
สำหรับความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ 63.04% ระบุว่า เป็นนโยบายการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้านำเข้าจากจีน และเม็กซิโก ที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและปริมาณการค้าโลก รองลงมา 50.00% ระบุว่า เป็นการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 45 และดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับไปผลิตในสหรัฐฯ เพื่อสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ ให้เพิ่มขึ้น จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย, 34.78% ระบุว่า เป็นการสนับสนุนกฎหมายเพื่อลดการจ้างงานแรงงานผิดกฎหมาย และผลักดันแรงงานผิดกฎหมายกว่า 11 ล้านคน ออกนอกประเทศ หากนโยบายดังกล่าวมีการนำมาใช้จริงอาจจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ ขณะที่ 2.17% ระบุว่า ไม่มีความกังวลต่อนโยบายใดๆ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์
ด้านผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยจากนโยบายเรื่องการค้าที่ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะกีดกันการค้าจากจีน พบว่า 48.98% ระบุว่า ส่งผลปานกลาง, 22.45% ระบุว่า ส่งผลมาก, 18.37% ระบุว่า ส่งผลน้อย, 4.08% ระบุว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากที่สุด, 4.08% ระบุว่า ส่งผลน้อยที่สุด และ 2.04% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2560 ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการต้องเข้าใจและปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ของโลก โดยเฉพาะ Thailand 4.0 ที่จะทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัวมากขึ้น 2.ส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน 3.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น รวมทั้งมีมาตรการที่เกี่ยวกับการลดภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนให้กับภาคเอกชน 4.เร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในปี 2560 รวมทั้ง การเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจระดับจังหวัดวงเงิน 1 แสนล้านบาท ตามนโยบายประชารัฐสร้างไทยของภาครัฐ และ 5.ต้องการให้วิเคราะห์และหาทางแก้ไขอุปสรรคที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การออกสิทธิบัตร อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล การควบคุมคุณภาพสินค้านำเข้า การส่งเสริมอุตสาหกรรม Automation
"ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนมุมมองของผู้บริหารระดับสูงที่มีต่อเศรษฐกิจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูง 2 ครั้งในปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดหวังว่าผลสำรวจนี้จะถูกนำไปใช้เทียบเคียงกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ถ้าทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะเป็นการคอนเฟิร์มว่าทุกคนมีความมั่นใจมากขึ้น"
นายกำพล กล่าวว่า นิด้าโพลจะพยายามทำผลสำรวจความคิดเห็นให้หลากหลายมากขึ้นจากเดิมที่เน้นสำรวจความคิดเห็นด้านการเมือง ซึ่งความร่วมมือกับ ส.อ.ท.ในครั้งนี้จะมีระยะเวลา 3 ปี โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องมือที่จะสะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ภาครัฐสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้
"เรายังพร้อมจะร่วมมือกับส.อ.ท.ทำการสำรวจความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นผลกระทบต่างๆ เช่น ผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่มีต่อเศรษฐกิจ รวมถึงในอนาคตอาจจะมีการสำรวจความคิดเห็นเป็นภาคอุตสาหกรรมด้วย"