นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.... โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้กองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บรรดาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร, กำหนดเรื่องสมาชิกสมทบเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์สหกรณ์ให้แก่เด็กและเยาวชน, กำหนดให้มีทุนรักษาเสถียรภาพระบบสหกรณ์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่บรรดาสหกรณ์ที่ขาดสภาพคล่อง หรือไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้ รวมทั้งกำหนดเรื่องการควบรวมสหกรณ์เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ได้ดำเนินการตามคำสั่งของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แล้ว โดยเห็นว่าปัญหาของสหกรณ์ไม่ได้เกิดจากโครงสร้าง แต่เกิดจากระบบการกำกับและตรวจสอบสหกรณ์เป็นลักษณะเกณฑ์เดียวกันใช้กับสหกรณ์ทุกประเภท รวมถึงการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้
โดยการแก้ไข พ.ร.บ.สหกรณ์ ครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ เช่น จะมีการเพิ่มอำนาจให้นายทะเบียนสหกรณ์สามารถออกเกณฑ์สำหรับการกำกับสหกรณ์ให้เหมาะสมในแต่ละประเภท แต่ละสถานการณ์ได้ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ มีอำนาจในการดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย และสั่งการให้สหกรณ์ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดภายในสหกรณ์
การให้กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ยังคงทำหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยมีการพัฒนาระบบการกำกับสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หลังจากที่กระทรวงเกษตรฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วมีข้อสรุปว่าการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ อาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายด้าน
นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ ฉบับใหม่ ยังให้นายทะเบียนสหกรณ์เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ เนื่องจากสหกรณ์มีหลายประเภทและหลายขนาด จึงควรกำหนดคุณสมบัติให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทและขนาดของสหกรณ์ และให้นายทะเบียนสหกรณ์กำหนดหลักเกณฑ์การควบรวมสหกรณ์ โดยคำนึงถึงขนาดของสหกรณ์ ความเสี่ยงของสหกรณ์ เงินทุนหมุนเวียนและหนี้สิน การดำเนินธุรกิจ และเป็นไปตามหลักการสหกรณ์สากล เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการควบรวมสหกรณ์
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป ที่ประชุม ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปดำเนินการยกร่างกฎหมาย รวมทั้งกำหนดกลไกและแนวทางในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในลักษณะเดียวกันกับการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใสและมีมาตรฐานในลักษณะเดียวกันกับสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ต่อไป