นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรณีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.50 ซึ่งไทยมีพันธกรณีต้องให้สิทธิยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่มีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศญี่ปุ่นในปริมาณที่กำหนดไว้ในโควตาเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 1 ของปีที่ 11 ของความตกลง JTEPA
กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดสรรโควตานำเข้าสินค้าเหล็กและเหล็กกล้าจากญี่ปุ่นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแต่ละปี โดยจัดสรรให้ผู้ประกอบการ/ผู้นำเข้าที่นำเหล็กรีดร้อนมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) เหล็กกลุ่ม 1 (Q9) เหล็กรีดร้อน กัดกรด เคลือบน้ำมัน ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (2) เหล็กกลุ่ม 2 (Q10) เหล็กรีดร้อน หน้ากว้างสำหรับรีดเย็น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (3) เหล็กกลุ่ม 3 (Q12) เหล็กรีดร้อนสำหรับรีดเย็น ซึ่งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ช่วยแบ่งเบาภาระด้านต้นทุนให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้จากสถิติในช่วงปี 2551-2558 พบว่ามีการนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่นในโควตาเฉลี่ยประมาณร้อยละ 80 ของปริมาณโควตาที่จัดสรรทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ความตกลง JTEPA ระบุไว้ว่า การกำหนดโควตานำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าจะต้องสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ของปีที่ 11 ของความตกลงฯ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว กรมการค้าต่างประเทศจึงได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำเหล็กและเหล็กกล้าเข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป สินค้าเหล็กและเหล็กกล้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นภายใต้ความตกลง JTEPA จะได้รับการยกเว้นภาษีโดยไม่มีการจำกัดปริมาณการนำเข้าอีกต่อไป
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ดังกล่าวเป็นการยืนยันความชัดเจนว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าสามารถแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ที่ออกตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลง JTEPA ต่อกรมศุลกากร เพื่อขอรับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าได้โดยไม่จำกัดปริมาณ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าจากประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วย