นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.มีแผนจะเปิดประมูลก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศในปี 60-61 คาดว่ามูลค่าลงทุนอาจสูงกว่า 1.57 แสนล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ รองรับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเข้าระบบ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ระบบส่งมีเครือข่ายครอบคลุมได้ทั้งหมดภายในปี 67
"การก่อสร้างสายส่งในภาคใต้และภาคอีสาน ก็น่าจะเริ่มทยอยเปิดประมูลได้ในช่วงปีนี้และปีหน้า ปีนี้ก็คงออกได้ประมาณ 55 bid มูลค่าประมาณ 6 หมื่นล้านบาท"นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวว่า การก่อสร้างสายส่งสำหรับพื้นที่ภาคใต้ จะเป็นโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคตะวันตกมาภาคใต้ จากจอมบึง-บางสะพาน-สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ขนาด 500 เควี ระยะทางราว 800 กิโลเมตร มีมูลค่าโครงการรวม 63,200 ล้านบาท และการก่อสร้างสายส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทางราว 1,000 กิโลเมตร มีมูลค่าโครงการ 94,040 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโครงการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
นอกจากนี้ กฟผ.ยังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ตอนล่างช่วงสุราษฎร์ธานี-ทุ่งสง-หาดใหญ่ 3 ขนาด 500 เควี ระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร มูลค่ารวมประมาณ 35,400 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของครม.ใน 1-2 เดือนข้างหน้า โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จในปี 63
สำหรับแผนลงทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุนระบบสายส่งของ กฟผ.ในช่วง 10 ปี (ปี 59-68) วงเงิน 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 5 ปีแรกวงเงิน 3 แสนล้านบาท และ 5 ปีถัดไปวงเงิน 3 แสนล้านบาท
นายกิจจา กล่าวอีกว่า การสร้างสายส่งดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสายส่งไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ยังมีความเสี่ยงกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะไม่เพียงพอในอนาคต หลังความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องปีละ 5% ขณะที่ยังมีข้อจำกัดของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ หลังการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังไม่มีความคืบหน้า
"ภาคใต้น่าจะวิกฤตในช่วงปี 63 เพราะ demand เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปี 63 ค่อนข้างอันตรายมากเพราะตอนแรกคิดว่ากระบี่จะเข้าได้ปี 62 แต่ขณะนี้หากได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างก็คงจะเสร็จในช่วงปลายปี 64 ถึงต้นปี 65"นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าภาคใต้อยู่ที่ราว 3,000 เมกะวัตต์ สูงกว่าความต้องการใช้ที่ประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ เพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกันยังมีการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งลงไปช่วยภาคใต้ด้วยบางส่วน แต่สายส่งที่มีอยู่ในปัจจุบันก็สามารถรองรับได้ราว 400 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งมีความเสี่ยงหากระบบส่ง หรือโรงไฟฟ้าในพื้นที่มีปัญหาไม่สามารถเดินเครื่องได้ หรือไม่สามารถส่งไฟฟ้าได้ ก็จะทำให้ปริมาณไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้มีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้
ดังนั้น กฟผ.จึงเห็นว่าภาคใต้ควรจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น และสาเหตุที่เน้นเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อเป็นการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยล่าสุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของกฟผ.อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.)
ทั้งนี้ คาดหวังว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 17 ก.พ.นี้จะมีความชัดเจนเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ต่อไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มอบหมายให้ กฟผ.จัดเตรียมแผนสำรองหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่ได้ โดยได้เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมาทดแทน ซึ่งจะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และจะต้องหาพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการใหม่
อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้ากระบี่ดังกล่าวควรเป็นโควตาของ กฟผ.ไม่ใช่ของภาคเอกชน แต่ก็ยังมีความเป็นห่วงว่าการนำเข้า LNG เพื่อมาผลิตไฟฟ้าจะทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงราว 40 สตางค์/หน่วย
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit:FSRU) ของ กฟผ.ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลแล้วนั้น กฟผ.จะดำเนินโครงการในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนเพื่อรองรับการจัดหา LNG ในอนาคตสำหรับโรงไฟฟ้าพระนครใต้และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ และเพิ่มการแข่งขันจัดหา LNG ในอนาคต ขนาด 5 ล้านตัน/ปี ประมาณเงินลงทุน 24,500 ล้านบาท และกำหนดส่งก๊าซฯภายในปี 67