ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกอาหารปี 60 ขยายตัวดีขึ้นนำโดยกุ้ง-ไก่ ส่วนข้าว-มันสำปะหลังยังไม่สดใส แนะติดตามนโยบายการค้าตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2017 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 60 จะมีมูลค่าประมาณ 27.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวจากปีก่อน 4.0% โดยการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้ากุ้ง (ภายใต้สมมติฐานน้ำท่วมภาคใต้ไม่เกิน 1 เดือน) ไก่และสับปะรดกระป๋อง

ในขณะที่การส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาที่ยังผันผวนตามความต้องการจากคู่ค้าหลักที่ยังแผ่วเบา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอาจจะต้องติดตามและปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนโยบายการค้าต่างประเทศของประเทศเศรษฐกิจหลัก และประเทศคู่ค้า ที่อาจมีผลกระทบต่อเนื่อง

"มูลค่าการส่งออกรวมในปี 60 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากปี 59 ที่ขยายตัวได้ 0.1% โดยการส่งออกได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 59 รวมทั้ง ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง" ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ทั้งนี้ การส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยในปี 60 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีจากการฟื้นตัวของผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหารจากภาวะภัยแล้งในปีก่อนหน้า และแนวโน้มการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารของภาครัฐ นอกจากนั้น ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อาทิ เช่น ความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะได้รับการยกเลิกใบเหลืองจาก IUU Fishing การยกเลิกการนำเข้าสินค้าไก่ของไทยของเกาหลีใต้ ไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดในหลายประเทศผู้บริโภคหลัก ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 60 ทั้งสิ้น

ในปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งออกประมงและสัตว์น้ำแปรรูปของไทยนำโดยสินค้ากุ้ง การส่งออกปศุสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูปนำโดยสินค้าไก่ และผักและผลไม้มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกประมงและสัตว์น้ำแปรรูปภายใต้สมมติฐานที่ภาวะน้ำท่วมจะคลี่คลายได้เร็วและกิจกรรมทางการผลิตประมงและสัตว์น้ำแปรรูปกลับมาดำเนินการปกติภายใน 1 เดือน จะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.0% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการขยายตัวของการมูลค่าส่งออกกุ้งที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 11.0% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีตลาดหลัก คือสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

การส่งออกสินค้าไก่ในปี 60 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะไก่แปรรูปเนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่ไทยสามารถแปรรูปไก่ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ทำให้มูลค่าการส่งออกปศุสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูปของไทยปี 2560 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 4.5% หรือคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำโดยสินค้าไก่ที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวที่ 5.0% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนสินค้าที่สำคัญในหมวดผักและผลไม้ คือ สับปะรดกระป๋อง ที่ถึงแม้จะถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 44 แต่การส่งออกสับปะรดกระป๋องก็ยังสามาถแข่งขันได้กับคู่แข่งสำคัญ สำหรับในปี 60 คาดว่า การส่งออกสับปะรดกระป๋องจะขยายตัวดีขึ้น จากความผันผวนด้านผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาภัยแล้งปีก่อน อีกทั้ง ความต้องการสับปะรดกระป๋องยังอยู่ในระดับที่สูงโดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญอย่าง สหรัฐฯ และเนเธอร์แลนด์ที่นิยมสับปะรดของไทย ทำให้คาดว่าการส่งออกทั้งด้านปริมาณและมูลค่าจะขยายตัวขึ้น นอกจากนั้น ข้าวโพดหวานกระป๋องซึ่งเป็นอีกสินค้าที่มียอดส่งออกที่สูงในหมวดผักแปรรูป โดยประเทศคู่ค้าหลักของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น ที่ยังมีความต้องการอยู่ในระดับสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมของการส่งออกผักและผลไม้มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ 2.0% คิดเป็นมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากแรงผลักดันของการขยายตัวของการส่งออกสับปะรดกระป๋องและข้าวโพดหวานกระป๋อง

ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงมีแนวโน้มการส่งออกที่ไม่สดใสนัก จากปัจจัยทั้งทางด้านราคาที่ผันผวนตามความต้องการที่ลดลงของคู่ค้า รวมทั้งผลผลิตที่มีความไม่สมดุลกับความต้องการ อาทิ ส่งออกข้าวยังคงน่ากังวลจากความต้องการของคู่ค้าหลักที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก เนื่องจากในปี 60 ประเทศผู้ส่งออกข้าวหลักมีปริมาณผลผลิตออกมาจำนวนมาก โดยเฉพาะไทยและเวียดนามที่จะมีปริมาณผลผลิตข้าวสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่ ความต้องการในตลาดโลกคาดว่าจะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของผู้นำเข้าหลัก ทำให้ราคาส่งออกข้าวในปี 60 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ปริมาณข้าวในตลาดของไทยในปี 60 ที่คาดว่าจะมีจำนวนสูงจะสามารถทดแทนให้มูลค่ารวมของการส่งออกข้าวของไทยไม่ปรับตัวลดลงมากนัก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกข้าวไทยจะมีมูลค่าทรงตัวจากปี 59 และมีมูลค่าประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังคงน่ากังวลจากภาวะเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าหลักในการส่งออกมันสำปะหลังของไทยที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากไทยในจำนวนที่สูง ซึ่งภาวะเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายการระบายสต๊อกข้าวโพดของจีน ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนมันสำปะหลัง ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยลดลง อีกทั้งในปี 60 คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะยังคงออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคามันสำปะหลังมีแนวโน้มปรับลดลงและคาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังหดตัวจากปีก่อนที่ 1.4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้ว่าในปี 60 การส่งออกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอาจจะต้องติดตามและปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษีบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในไทย ได้มีการปรับตัวเพื่อลดอุปสรรคในการค้าด้วยการขยายการลงทุนไปในต่างประเทศจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ในการส่งออกของประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่จะกลับเข้ามาเป็นรายได้ประชาชาติแทน อย่างไรก็ตาม กระแสความนิยมในอาหารไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยผ่านความต้องการนำเข้าวัตถุดิบและสิ่งปรุงรสที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า

สำหรับผู้ส่งออกไทยที่ยังไม่สามารถขยายการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้ โดยเฉพาะ SMEs จำเป็นต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า อาทิเช่น การนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับมาประยุกต์ใช้ การแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าส่งออกของตนเอง นอกจากนั้น ผู้ส่งออกจำเป็นต้องติดตามความเคลื่อนไหวของนโยบายการค้าต่างประเทศของประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะ นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายหลังการเปลี่ยนประธานาธิบดี ประเด็นการเมืองของสหภาพยุโรปทั้งในเรื่อง Brexit รวมถึงการเลือกตั้งทั่วไปในหลายประเทศสมาชิก ที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกอาหารของไทยได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ