(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท. เผยขอรอดูความชัดเจนนโยบายศก.สหรัฐ"ทรัมป์" ก่อนประเมินผลกระทบต่อ GDP

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 20, 2017 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยขอรอดูความชัดเจนนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันนี้ ซึ่งจะมีการสาบานตนและกล่าวสุนทรพจน์ ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไรและจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยอย่างไรบ้าง

อย่างไรก็ตาม มองว่าตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเลือกตั้งก็มีผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวน ดังนั้น แนะนำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ธปท.จะดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า การประกาศแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจหลายเรื่องของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจมีความแตกต่างจากแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบเดิมที่โลกคุ้นชิน และยอมรับว่าอาจจะสร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เห็นความผันผวนในตลาดเงิน ตลาดทุนมากขึ้นมาตั้งแต่ช่วงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาในเดือนพ.ย.59 และวันนี้จะเข้าสู่ช่วงที่ผู้บริหารชุดใหม่ของสหรัฐฯ จะนำแนวนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลได้จริง ทั้งนี้ มองว่าอาจจะมีหลายเรื่องที่ไทยได้รับอานิสงส์จากนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ เช่น หากสหรัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นได้เร็วและเติบโตขึ้นจริง ไทยจะได้รับผลบวกในส่วนนี้ ในทางกลับกัน นโยบายที่เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะมีการกีดกันทางการค้ามากขึ้น และมีการทบทวนข้อตกลงทางการค้าที่มีมาแต่เดิมนั้น เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดนั้น นโยบายที่ออกมาก็อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้ว่า ธปท. กล่าวด้วยว่า ในความต้องการที่สหรัฐฯ จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ด้วยการลดภาษี และเร่งเพิ่มรายจ่ายนั้น จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความต้องการในการกู้ยืมเงินจากตลาดมีมากขึ้นด้วย สิ่งที่จะเห็นตามมา คือ อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในตลาดพันธบัตรจะปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ และส่งผลไปถึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของตลาดพันธบัตรทั้งโลก รวมทั้งไทยด้วย

"ที่สำคัญคือ จะมีความผันผวนสูงขึ้น จะมีความไม่แน่นอนสูงขึ้นในหลาย ๆ ด้าน อย่างที่เราปฏิเสธไม่ได้ เราจะเห็นการปรับตัวของสกุลดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีที่แล้วดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นมาก แต่ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความไม่ชัดเจนในเรื่องแนวนโยบายของสหรัฐ ดังนั้นเราต้องติดตามสถานการณ์ ระมัดระวังและบริหารความเสี่ยง ควบคุมความเสี่ยงให้ดี" ผู้ว่า ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า ธปท.ได้ใช้แนวทางในการดูแลมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถจะดูแลไม่ให้ตลาดมีความผันผวนจนเกินควร ทั้งนี้จากความผันผวนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่นักธุรกิจระหว่างประเทศจำเป็นต้องดูแลตัวเองด้วย รู้วิธีในการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยง เพราะต้องอยู่ในโลกที่มีความผันผวนสูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ธปท.จะขอติดตามรายละเอียดของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชัดเจนก่อนว่าจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยหรือไม่อย่างไร
"ขอประเมินก่อน ที่สำคัญคือรายละเอียดของมาตรการใหม่ ๆ ที่จะออกมา เพราะเมื่อเราพูดถึงการกีดกันทางการค้านั้นมันเป็นภาพรวม แต่ที่สำคัญมากคือ ต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าจะทำกับสินค้าใด กับประเทศใด เป็นมาตรการชั่วคราว หรือถาวร เราต้องตามกันต่อเนื่อง" นายวิรไท กล่าว

ส่วนกรณีมีสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ของบางบริษัทในช่วงที่ผ่านมานั้น ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า อาจเกิดเหตุการณ์ที่บางบริษัท บริษัทเล็ก ๆ หรือบางบริษัทที่มีความเสี่ยงในเชิงธุรกิจสูงไม่สามารถใช้คืนเงินได้ตามตั๋ว B/E ที่ออกไป อาจจะทำให้เกิดความตื่นตระหนกได้บ้าง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ ต้องแยกแยะบริษัทที่เป็นผู้ออกตราสารเหล่านี้ เพราะ B/E ส่วนใหญ่ในระบบการเงินไทยออกโดยบริษัทที่มีพื้นฐานทางธุรกิจที่ดีต่อเนื่อง "เรื่องสำคัญคือต้องแยกแยะ ช่วงที่ผ่านมาอาจมีบางบริษัทที่โครงสร้างธุรกิจไม่แข็งแรง ก็ออกตั๋ว B/E ที่ให้ผลตอบแทนสูง มีนักลงทุนบางกลุ่มเข้าไปลงทุนโดยหวังผลตอบแทนสูง แต่เราต้องเข้าใจและรู้เท่าทันกับความเสี่ยงนี้" ผู้ว่าธปท.กล่าว ทั้งนี้ เห็นว่านักลงทุนทั่วไปไม่ควรจะตื่นตระหนกกับกรณีดังกล่าว เพราะตั๋ว B/E ที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้เข้าไปอยู่ในกองทุนที่ขายให้นักลงทุนรายย่อยหรือประชาชนทั่วไป ยังกระจุกตัวอยู่ทั้งในแง่ของบริษัทและกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งเรื่องนี้ได้ประสานกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิดแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ