นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประสานหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชนเพื่อกำหนดและหามาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ให้ครอบคลุมทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ พร้อมทั้งให้ร่วมมือกับสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทยช่วยเหลือผู้ประกอบการโชวห่วยในพื้นที่ทั้งรายเล็กรายใหญ่อย่างเต็มที่ เนื่องจากร้านโชวห่วยมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด เป็นแหล่งกระจายสินค้าสู่ชุมชน และมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง"
“ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ร่วมกับ สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ผู้บริหารธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่ประสบปัญหาอุทกภัย บริษัทผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย อาทิ บริษัท ซี.พี.คอนซูเมอร์โปรดักส์ จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด รวมทั้ง สถาบันการเงิน อาทิ SMEs Bank ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ธนาคารทหารไทย โดยที่ประชุมได้สรุปมาตรการการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งในส่วนของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และธุรกิจโชวห่วย ดังนี้
- มาตรการการช่วยเหลือภาคประชาชน กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ ผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่าย ส่งสินค้าราคาพิเศษสู่มือประชาชนที่ได้รับผลกระทบฯ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ผ่านร้านค้าส่งค้าปลีกที่กระทรวงพาณิชย์ให้การส่งเสริมในพื้นที่ภาคใต้
- มาตรการการช่วยเหลือภาคธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันการเงิน เน้นความช่วยเหลือด้านการเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจผ่านมาตรการของธนาคารพันธมิตร ได้แก่
- ธนาคารกรุงเทพ ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระเงิน ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอนุมัติวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
- ธนาคารกสิกรไทย พักชำระเงินต้น 12 เดือน ลดยอดและขยายเวลาผ่อนชำระ
- ธนาคารทหารไทย พักชำระดอกเบี้ย 6 เดือน หรือพักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 3 เดือน
- SMEs Bank อนุมัติวงเงินสูงสุด 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยไม่เกิน MLR ระยะเวลาชำระ 5 ปี เพื่อใช้ในการปรับปรุง ฟื้นฟู และหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
- มาตรการการช่วยเหลือธุรกิจโชวห่วย
- กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะจัดทีมงานลงพื้นที่ช่วยเหลือในการจัดร้านค้าและปรับภาพลักษณ์ร้านโชวห่วยที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยภาคใต้ โดยมีเป้าหมาย 200 ร้านค้า
- กระทรวงพาณิชย์ เจรจาให้ซัพพลายเออร์ เช่น บริษัท ซี.พี.คอนซูเมอร์โพรดักส์ จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ขยายเวลาชำระหนี้ค่าสินค้าจากปกติ 30-45 วัน เป็น 75-90 วัน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ และรับเก็บคืนสินค้าที่เสียหายจากน้ำท่วม
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยใน 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้ง จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนี้ ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้แจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือควรทราบถึงการสูญหายหรือเสียหาย ให้สามารถยื่นล่าช้าและสามารถใช้เป็นหลักฐานกรณีถูกเรียกตรวจบัญชีได้ ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถแจ้งบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permit) ได้ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th
ผ่อนผันการยื่นงบการเงินประจำปีของธุรกิจที่มีหน้าที่ต้องยื่นในช่วงที่เกิดอุทกภัยระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 - 28 กุมภาพันธ์ 2560 ให้สามารถยื่นล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดได้ , ผ่อนผันการยื่นจดทะเบียนของนิติบุคคลที่ต้องยื่นจดทะเบียนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดในช่วงระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 – 28 กุมภาพันธ์ 2560 ให้สามารถยื่นล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดได้ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์บริการรับจดทะเบียนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง ชั้น 4 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ