พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอในการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าภาคใต้ตอนล่าง วงเงินลงทุน 35,400 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เริ่ม ปี 59-63 และระยะที่ 2 เริ่ม ปี 63-66
โดยระยะที่ 1 ดำเนินการจัดทำสายส่ง 500 kv เริ่มตั้งแต่ จ.ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต ส่วนระยะทึ่ 2 มีทั้งจัดทำสายส่งขนาด 500 kv และขยายสถานีส่งตั้งแต่ จ.สงขลา ลงไปจนถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้
"จุดประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องระบบพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากที่ผ่านมา เวลามีปัญหาเกิดขึ้นจากแหล่งในภาคกลางหรือสายส่งที่ลงไปภาคใต้ วันนี้จึงเพิ่มความจุในสายส่ง เพื่อให้สามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
อย่างไรก็ดี ในกรณีเฟสที่ 2 ครม.ได้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากสายส่งในพื้นที่มีขนาด 230 หรือไม่ก็ 115 kv จุดประสงค์ที่ขยายสายส่งเป็น 500 kv เพราะว่า ถ้าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งหลายในพื้นที่ภาคใต้ หรือโรงงานไฟฟ้าที่เทพา ที่กระบี่ก็ตามสร้างเสร็จเรียบร้อยจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ค่อนข้างมาก สามารถนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตส่งไปเสริมความมั่นคงในภูมิภาคอื่นได้เช่นเดียวกัน
"แต่ก็มีข้อแม้ว่า ถ้าโรงงานไฟฟ้าที่เทพา กับที่กระบี่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ แผนการขยายสายส่งเฟสที่ 2 ก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งครม.ก็ได้รับหลักการ" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พร้อมระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะหารือกระทรวงพลังงาน โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในเร็วๆ นี้ และจะเสนอ ครม.ให้ได้เข้าใจว่ามีหลายแนวคิดในพื้นที่ เช่น บรรดากลุ่มสิทธิมุนษยชนทั้งหลายเป็นห่วงเรื่องผลกระทบ แต่คนในพื้นที่จำนวนมากที่เห็นข้อเท็จจริงว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีการขยายตัวของภาคธุรกิจหลากหลายประเภท ซึ่งต้องอาศัยกระแสไฟฟ้ามากทั้งสิ้น แนวคิดว่าจะจำกัดหรือลดปริมาณการใช้ลง เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นยังไงก็คงต้องเดินหน้า เพียงแต่ต้องให้เกิดความเข้าใจรับรู้โดยทั่วกันของสังคมว่าคนในพื้นที่ คนนอกพื้นที่ต้องเห็นความสำคัญของการสร้างเสถียรภาพความมั่นคง และตอบรับต่อความต้องการหรือปริมาณบริโภคกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้นว่ามีจริง
"ส่วนข้อห่วงใยทั้งหลาย ก็อย่าเพิ่งไปกังวลมากนัก เพราะยังไม่ได้เลือกเทคโนโลยี และเทคโนโลยีทุกวันนี้ก็ทันสมัย สามารถแก้ไขเรื่องต่างๆ ที่เป็นข้อวิตกกังวลได้ โดยดูจากประเทศอื่นๆ ที่มีใช้ อย่างไรเสีย เรื่องนี้ก็คงจะต้องดำเนินการ แต่คงดำเนินการบนข้อมูลพื้นฐาน เหตุผลที่สังคมเข้าใจได้" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว