ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดลงทุนภาคเอกชนปีนี้ฟื้นตัว 2.8% รับแรงหนุนจากลงทุนภาครัฐ-มาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2017 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่ 3.3% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่อาจมีทิศทางชะลอตัวลงตามขนาดของฐานที่ใหญ่ในปีที่ผ่านมา ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนเสริมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะเติบโตดีขึ้นที่ 2.8% จากปีก่อนหน้า ซึ่งขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ 0.5%

โดยมีปัจจัยกระตุ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของภาครัฐที่กระจายการก่อสร้างไปยังภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น ซึ่งหากพิจารณารายละเอียดความคืบหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วนปี 2559 (Action Plan) ในโครงการที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2560 ในหลายโครงการมีการกระจายการก่อสร้างไปยังตามภูมิภาคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โครงการทางหลวงพิเศษสายบางปะอิน-นครราชสีมา สายบางใหญ่-กาญจนบุรี รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ช่วงนครปฐม-หัวหิน และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ซึ่งส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นตามมาในพื้นที่ต่างๆ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานตัดผ่าน โดยในระยะแรกการลงทุนภาคเอกชนน่าจะอยู่ในหมวดก่อสร้างเป็นหลัก

นอกจากนี้ รัฐบาลขยายเวลามาตรการกระตุ้นการลงทุนจากภาครัฐที่ต่อเนื่องมาจากปี 2559 จะเป็นปัจจัยเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนภาคเอกชน โดยกำหนดเงื่อนไขการหักลดหย่อนภาษีจะต้องมีการลงทุนจริงภายในปี 2560 แต่โครงการลงทุนไม่จำเป็นต้องเสร็จในปีนี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แต่เงื่อนไขการหักลดหย่อนมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเป็น 1.5 เท่า

ขณะเดียวกันการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นจากภาพรวมการใช้กำลังการผลิตในประเทศในปี 2559 ยังคงอยู่ที่ต่ำกว่า 80% ซึ่งเป็นระดับใกล้เต็มกำลังการผลิต ทำให้การผลิตในประเทศสามารถรองรับการขยายตัวดีกว่าที่คาดของการส่งออกได้ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2559 ในหลายอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกเติบโตเป็นบวกมีระดับการใช้กำลังการผลิตอยู่สูงกว่า 80% สะท้อนให้เห็นว่า หากการส่งออกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2560 การลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในอาจจะมีความจำเป็นในบางอุตสาหกรรม เช่น ไก่สดและแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อีกทั้ง การพิจารณาเร่งลงทุนในช่วงก่อนที่ดอกเบี้ยจะเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นจากทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มีการส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นถึง 3 ครั้งในปี 2560 จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินในหลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่จะต้องเผชิญทิศทางการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินสกุลท้องถิ่นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ให้อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตามแม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังมีช่องว่างที่สามารถยืนระดับไว้ที่ 1.50% ตลอดปี 2560 เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ หากแต่ระยะถัดไปในปี 2561 FED จะมีการรักษาจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศไทย ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งหมายถึงต้นทุนการลงทุนที่แพงขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนมาจากการลงทุนภายในประเทศหรือขยายกำลังการผลิตจากการลงทุนที่มีอยู่แล้วเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDIs) รวมทั้งการลงทุนของธุรกิจไทยที่มีเป้าหมายตลาดต่างประเทศในบางภูมิภาคยังได้รับผลกระทบจากบรรยากาศการลงทุนทั่วโลก ซึ่งอยู่ระหว่างรอความชัดเจนทั้งจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และการเจรจา Brexit ทำให้การตัดสินใจในการลงทุนยังอยู่ในภาวะชะงักงัน แม้ประเทศไทยจะไม่ใช่เป้าหมายของสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า แต่หากสหรัฐฯ มีการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนย่อมส่งผลกระทบเชื่อมโยงมายังไทยด้วย ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของจีน ซึ่งคงต้องติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ