นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เป็นช่วงเวลาที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะเดินทางออกนอกประเทศ ไปท่องเที่ยวยังต่างแดน ซึ่งประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการท่องเที่ยวของชาวจีนจึงส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินในช่วงนี้เพิ่มมากขึ้นจากปกติ ซึ่งจากการประมาณการปริมาณเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศที่เข้า-ออกประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2560 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวมในช่วง 7 วัน เป็นจำนวน 19,584 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 2,798 เที่ยวบินต่อวัน
โดยท่าอากาศยานที่มีปริมาณเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้นลงมากที่สุด ในช่วงตรุษจีนนี้ คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีปริมาณเที่ยวบินเฉลี่ย 972 เที่ยวบินต่อวัน ในขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีปริมาณเที่ยวบินขึ้นลง เฉลี่ย 762 เที่ยวบินต่อวัน สำหรับท่าอากาศยานภูมิภาคหลักอีก 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานภูเก็ต มีปริมาณเที่ยวบินขึ้นลง เฉลี่ยอยู่ที่ 306 เที่ยวบินต่อวัน และท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีปริมาณเที่ยวบินขึ้นลง เฉลี่ย 225 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตัวเลขรวมของปริมาณเที่ยวบินที่เข้า-ออก ในทุกท่าอากาศยานทั่วประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาจำนวน 1,314 เที่ยวบิน คิดเป็นร้อยละ 7
โดยคาดว่าปริมาณเที่ยวบินรวมมากที่สุด คือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 ปริมาณรวมเที่ยวบินอยู่ที่ 2,916 เที่ยวบิน และปริมาณเที่ยวบินรวมน้อยที่สุด คือ วันที่ 29 มกราคม 2560 ปริมาณรวมเที่ยวบินอยู่ที่ 2,632 เที่ยวบิน และหากเปรียบเทียบในช่วงเวลาปกติ (หลังปีใหม่) กับช่วงตรุษจีน มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 58 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 2% จากช่วงตารางบินปกติ
นางสาริณีฯ กล่าวว่า วิทยุการบินฯ ได้ออกมาตรการและวิธีปฏิบัติการบริหารจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานต่าง ๆ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศ และรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น โดยได้มีการเพิ่มอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศและปรับตำแหน่งการทำงานให้มีความพร้อมต่อการให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว และจัดระบบการบริหารจัดการในการขึ้น – ลงของอากาศยาน
อีกทั้งได้เตรียมความพร้อมการใช้งานของระบบอุปกรณ์สนับสนุนการให้บริการจราจรทางอากาศให้คงประสิทธิภาพสูงสุด ประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับทางบมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) และ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้มีการเปรียบเทียบตารางบินกับหลุมจอด ให้มีความสอดคล้องกัน โดยร่วมกันประเมินความพร้อมด้านต่างๆ ด้วย และได้มีการกำหนดมาตรการการจัดระยะต่อในการวิ่งขึ้น จากสนามบินภูมิภาคภายในประเทศ เพื่อลดการกระจุกตัวของอากาศยานในภาคอากาศ นอกจากนั้นยังมีการประสานงานกับประเทศรอบข้างให้ทราบถึงสภาพการจราจรที่เปลี่ยนแปลง เพื่อนำข้อมูลทุกด้านมาใช้บริหารจัดการจราจรทางอากาศล่วงหน้า พร้อมทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดกับกรมอุตุนิยมวิทยาในเรื่องข้อมูลสภาพอากาศ และได้มีการกำหนดให้ใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเป็นสนามบินสำรอง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกๆ ด้าน