นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคช่วงเทศกาลตรุษจีน (16-22 ม.ค.60) จากกลุ่มตัวอย่าง 1,215 ตัวอย่าง พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 55.6% จะใช้จ่ายช่วงตรุษจีนปีนี้เพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจดีขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น และรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดรวม 54,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% จากปีก่อน ซึ่งถือเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 50
"มูลค่าการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมานั้น แม้ว่าจะไม่ใช่อัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดแต่เป็นสัญญาณที่ดี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจ และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้นต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ และที่บอกว่า ผู้ตอบ 5% ซื้อของลดลงนั้นเป็นโครงสร้างตัวเลขที่ดีสุดในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่ปี 53 จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง" นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะเดียวกันพบว่าปริมาณการซื้อสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนใหญ่ 42.9% มีการซื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยถึงมาก อีก 39.4% บอกไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีเพียง 5% ที่บอกว่าซื้อของปริมาณลดลงมาก สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้นส่วนใหญ่ 43.3% มาจากเงินเดือนและรายได้ปกติ 32.6% มาจากเงินออม และ 24.1% มาจากเงินโบนัส
สำหรับการวางแผนการใช้จ่ายช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นการซื้อของเซ่นไหว้ ไปทำบุญ ให้แต๊ะเอีย ท่องเที่ยว สังสรรค์ แต่ในส่วนของการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่า ปีนี้มีมูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก รองลงมาเป็นการท่องเที่ยวและการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย (เครื่องประดับ ทอง) ให้ตัวเองเพิ่มขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 3-5 วันนี้ คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนและต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย มาช่วยเติมเม็ดเงินให้เข้าระบบได้อีก 10,000-30,000 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปีนี้ ได้รับอานิสงส์ในการขับเคลื่อนให้ขยายตัว ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 60 มีโอกาสสามารถขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5-4% ได้ ส่วนตัวเลขเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 2.5-3.5% มีโอกาสเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีนและสงกรานต์ รวมทั้งการส่งออกในไตรมาสแรกปีนี้ว่ายังมีแรงขับเคลื่อนส่งต่อไปถึงไตรมาส 2 ได้หรือไม่ เพราะไตรมาส 2 เป็นช่วงที่ภาพไม่ชัด เนื่องจากไม่ใช่ช่วงของการท่องเที่ยว และยังต้องติดตามผลจากการที่สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และการที่สหรัฐฯถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และอาจใช้มาตรการกีดกันสินค้าจากจีนมากขึ้นทำให้หลายประเทศชะลอการสั่งสินค้าเพื่อรอดูผล