นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการศึกษาความปลอดภัยในการใช้รถตู้โดยสารประจำทางว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เตรียมจัดทำโครงการนำร่องในการนำรถโดยสารขนาดเล็ก (มินิบัส) จำนวน 13 เส้นทาง (หมวด 2 ) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.60
โดยนับจากวันนี้ไปจะไม่มีการออกใบอนุญาตรถตู้โดยสารสาธารณะใหม่, รถตู้โดยสารเก่าที่มีอยู่ในปัจจุบันจะต้องติดระบบ GPS ทุกคันภายในวันที่ 31 มี.ค.60, รถตู้โดยสารทุกคันจะต้องออกจากสถานีขนส่ง, รถตู้โดยสารทุกคันจะต้องตรวจความพร้อมของรถและคนขับก่อนออกจากสถานี และรถตู้โดยสารทุกคันจะต้องมีคู่มือประจำรถและประจำตัวคนขับ โดยจะมีการตั้งจุดตรวจสภาพรถและคนขับระหว่างเส้นทาง
ทั้งนี้กรมขนส่งทางบกจะกำหนดเส้นทางเดินรถมินิบัสและออกมาตรการสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านจากรถตู้โดยสารเดิมไปเป็นรถโดยสารขนาดเล็ก หรือกรณีที่ต้องการออกจากระบบรถโดยสารจะสนับสนุนในการนำรถตู้เปลี่ยนหมวดจดทะเบียนการใช้งานรถเป็นรถขนส่งสิ่งของได้ รวมถึงเป็นคนกลางในการช่วยจัดหางานขนส่งให้ ซึ่งเป้าหมายเพื่อลดจำนวนรถตู้ออกจากระบบโดยสาร
ด้านนายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบริหารการเดินรถ บขส. กล่าวว่า บขส.จะจัดโครงการนำร่องหารถมินิบัสจำนวน 55 คันมาให้บริการใน 13 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมที่ บขส.เคยให้บริการเดินรถอยู่ก่อนแล้วแต่ได้ยกเลิกไป ซึ่งจะไม่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร โดยจะจัดทำรูปแบบมาตรฐานตัวรถตามที่ขนส่งกำหนด และนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) บขส.เพื่อขออนุมัติ
สำหรับ 13 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพ-อยุธยา, กรุงเทพ-สระบุรี ซึ่งมีรถตู้โดยสารให้บริการอยู่เส้นทางละ 190-200 คัน บขส.จะจัดรถมินิบัสเส้นทางละ 10 คัน เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสาร ส่วนที่เหลือจะกระจายใน 11 เส้นทางๆ ละ 2-3 คัน
ด้านนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า การนำร่องจัดหารถมินิบัสนั้นเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคมให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตามกฎหมายทุกขั้นตอน และเปิดกว้างให้มีการแข่งขันด้วยความโปร่งใส ส่วนการเปลี่ยนผ่านจะให้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุด ซึ่ง ขบ.อยู่ระห่างการจัดเส้นทางเดินรถหมวด 2 (กรุงเทพ-ต่างจังหวัด) ปัจจุบันเป็นของ บขส.จำนวน 205 เส้นทาง มีรถตู้ 5,200 คัน และหมวด 3 (วิ่งระหว่างจังหวัด) มี 69 เส้นทาง จำนวน 3,900 คัน