นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า สนพ.เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ใช้วิธีการประมูลในโครงการโซล่าร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 2 โดยจะใช้วิธีประมูลในส่วนของโควต้าสหกรณ์ 119 เมกะวัตต์ เนื่องจากเห็นว่าวิธีการประมูลเป็นแนวทางที่หมาะสม เพราะจะส่งผลดีต่อผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม เนื่องจากการประมูลจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและสะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
พร้อมกันนี้ ยังยืนยันจะใช้อัตราสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง Feed-in Tariff (FiT) 4.12 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ผู้ร่วมโครงการจะต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นในส่วนของสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่ตัวเองว่ามีเพียงพอหรือไม่ก่อน และการประมูลจะใช้วิธีพิจารณาว่าใครเสนอขอรับอัตรา Feed-in Tariff (FiT) ต่ำกว่าเพื่อจัดลำดับการเข้าร่วมโครงการ ตามโควต้าที่มีอยู่ 119 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการประมูลไม่เป็นอุปสรรคหรือขัดกับกฎหมายของสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์สามารถเข้าร่วมประมูล แต่ยอมรับว่ารายใหญ่อาจได้เปรียบในเรื่องต้นทุนเพราะสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ต่ำกว่ารายเล็ก ซึ่งที่ประชุมจะต้องพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป
ด้านนายธรรมยศ ศรีช่วย รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในการประชุม กพช.ในวันที่ 17 ก.พ.60 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานจะมีการพิจารณาโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มภาคราชการและสหกรณ์การเกษตร ระยะที่ 2 โดย กพช. อาจพิจารณาแบ่งโควต้าส่วนหนึ่งจากที่มีอยู่ 400 เมกะวัตต์ไปให้กลุ่มสหกรณ์การเกษตรดำเนินการ เนื่องจากส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดปัญหา พ.ร.บ.ร่วมทุน ส่วนรายละเอียดจะต้องให้ กพช.เป็นผู้พิจารณาต่อไป
ในวันนี้นายปฏิพล เกตุรัตนัง ประธานสหกรณ์การเกษตรนาบอน จ.นครสวรรค์ เป็นแกนนำเครือข่ายสหกรณ์ฯ ทั่วประเทศเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รวมถึงพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน และ กกพ.ในวันนี้ (25 ม.ค.)
นายปฏิพล กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ภาครัฐยกเลิกวิธีการประมูลในโครงการโซล่าร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ฯ ระยะที่ 2 โดยกลับมาใช้วิธีการจัดสลากเหมือนโครงการฯระยะแรก 2.ขอให้ภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวในอัตราเดิม 5.66 บาทต่อหน่วย โดยไม่ต้องการให้ใช้อัตราใหม่ที่ กพช.ประกาศ ที่ปรับลดเหลือ 4.12 บาทต่อหน่วย และ 3. ต้องการให้แบ่งโควต้าในส่วนของราชการมาให้กลุ่มสหกรณ์ดำเนินการจำนวน 200 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะมีคำตอบให้กลุ่มสหกรณ์ภายใน 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหาก กพช.ยังยืนยันจะใช้ระบบประมูลต่อไป ทางกลุ่มสหกรณ์ฯ จะนัดรวมตัวเพื่อคัดค้านในวันประชุม กพช. 17 ก.พ.60 ต่อไป