ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทิศทางการเติบโตของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 60 คงปรับตัวดีขึ้นมาที่ 4.0% ภายใต้กรอบคาดการณ์ 3.0-5.0% หรือเพิ่มขึ้นราว 3.4-5.6 แสนล้านบาทจากปี 59 โดยสะท้อนอานิสงส์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีสมดุลมากขึ้น ด้วยแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการลงทุนของทั้งภาครัฐและเอกชน และการเติบโตต่อเนื่องของสินเชื่อรายย่อยที่คาดว่าจะเป็นตัวนำการเติบโตของสินเชื่อรวมด้วยเช่นกัน ด้วยอัตราเติบโตประมาณ 5.5% จากกรอบคาดการณ์ 4.5-6.5% ตามแรงหนุนสำคัญจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะยังโตได้ดีที่ระดับประมาณ 7.0% เท่ากับปีก่อนหน้า และสินเชื่อเช่าซื้อที่คาดว่าจะพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังผลของโครงการรถคันแรกทยอยลดบทบาทลง
ขณะที่ในปี 59 สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตในอัตราชะลอลงมาที่ 1.26% เทียบกับปี 58 ที่ทำได้ 3.43% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี จากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างล่าช้า ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงแหล่งระดมเงินของภาครัฐ
ในเดือน ธ.ค.59 ปัจจัยพิเศษจากการเตรียมถ่ายโอนธุรกิจลูกค้าบุคคลของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไปยังกลุ่มทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป กดดันให้สินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท น้อยกว่าในเดือน พ.ย. 59 ที่สินเชื่อเพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าโดยปกติสินเชื่อในเดือนสุดท้ายของปีมักจะขยายตัวสูงตามปัจจัยด้านฤดูกาล
ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวส่งผลให้สินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 59 เติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้มาก ทั้งนี้ หากไม่รวมปัจจัยพิเศษข้างต้น สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะปิดปีที่เพิ่มขึ้น 1.67%YoY
นอกเหนือจากปัจจัยพิเศษดังกล่าวแล้ว ในปี 59 ภาพรวมสินเชื่อของระบบยังถูกกดดันด้วยการคืนสินเชื่อภาครัฐ และการชำระคืนสินเชื่อของภาคธุรกิจเป็นระยะ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยเติบโตอย่างระมัดระวัง โดยธนาคารยังอยู่ในช่วงการประคองความเสี่ยง อีกทั้งความสามารถในการกู้ยืมใหม่ของครัวเรือนยังอยู่ในกรอบจำกัด จากภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังปรับตัวสูงขึ้นแม้จะในอัตราที่ชะลอลงมาบ้างก็ตาม ประกอบกับสินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ถูกกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศที่เปราะบาง
ขณะที่การบริหารต้นทุนการเงิน ผนวกกับการชะลอความเข้มข้นในการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษใหม่ ส่งผลให้เงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นปี 59 ขยายตัวในระดับเดียวกับปีก่อนหน้าที่ 1.46% YoY โดยตลอดทั้งปี 59 ธนาคารลดความเข้มข้นในการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษใหม่เพื่อทดแทนเงินฝากเดิมที่ครบกำหนด ทั้งในด้านข้อเสนออัตราดอกเบี้ยที่ไม่หวือหวา และในด้านเม็ดเงินที่ต้องการระดมทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 59 ที่จำนวนผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษออกใหม่ของธนาคารพาณิชย์ลดลงเหลือเพียง 20 ผลิตภัณฑ์ เทียบกับจำนวนผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ครบกำหนดในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งมีจำนวนถึง 39 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งสะท้อนความตื่นตัวในการบริหารต้นทุนการเงินของธนาคาร ไม่ให้เป็นภาระมากเกินไปและเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะสินเชื่อที่โตชะลอลง
นอกจากนี้ ธนาคารส่วนใหญ่ยังดำเนินนโยบายลดสัดส่วนเงินฝากประจำลง และหันมาเพิ่มสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์พิเศษที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ CASA ซึ่งเอื้อต่อลูกค้าทั้งในเรื่องความคล่องตัวในการเบิกถอนเมื่อต้องการ และยังได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ดี ขณะเดียวกันก็เอื้อประโยชน์กับธนาคาร ในแง่ที่มีต้นทุนการบริหารเงินที่ถูกลงกว่าการรับเงินฝากประจำ
ในเดือน ธ.ค. 59 ยังมีปัจจัยพิเศษจากการเตรียมถ่ายโอนธุรกิจลูกค้าบุคคลของธนาคารสแตนดาร์ดฯ ที่มีผลให้เงินฝากของระบบลดลงราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากไม่มีรายการพิเศษนี้ เงินฝากในระบบธนาคารไทย ณ สิ้นปี 59 น่าจะโตเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 1.8% YoY
สำหรับการบริหารจัดการต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย ผนวกกับการแข่งขันของช่องทางการออมอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่จูงใจ ส่งผลให้ทิศทางสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในปี 59 ตึงตัวขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้า ไม่ว่าจะสะท้อนผ่านสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ซึ่งเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 91.3% จาก 90.8% ในปี 58 หรือสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ต่อสินทรัพย์รวมที่เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 20.6% จากระดับ 20.1% ในปีก่อนก็ตาม
ด้านแนวโน้มเงินฝากในปี 60 คาดว่า การแข่งขันระดมเงินฝากจะเริ่มกลับมาเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 60 เนื่องจากอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากและตั๋วแลกเงิน (LTD+B/E) ซึ่งเป็นเครื่องชี้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มไต่ระดับขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับค่อนข้างสูง
ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเริ่มกลับสู่ขาขึ้นหลังการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงท้ายปี 59 และยังมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นต่อในปี 60 ซึ่งคงสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน
ดังนั้น ในปี 60 นี้ จึงถือเป็นจังหวะอันดีของผู้บริโภคที่จะได้รับผลตอบแทนจากเงินออม โดยเฉพาะเงินฝากพิเศษที่คงขยับตัวสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินไทยซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับตลาดการเงินโลก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อาจยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อและเพิ่มทางเลือกในการออมให้กับลูกค้า โดยผู้บริโภคอาจจะพิจารณาจัดสรรเงินออมและวางแผนการเงินไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนและการออมในอนาคต