(เพิ่มเติม1) ผู้ว่า ธปท.มองปี 60 ตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยจะเผชิญความผันผวนและอาจรุนแรงบางช่วงจากเงินทุนเคลื่อนย้าย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 26, 2017 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ตลาดเงินและตลาดทุนไทยในปี 60 จะเผชิญความผันผวนและอาจรุนแรงบางช่วงจากเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งในส่วนของตลาดเงินนั้น วัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยในตลาดโลกจะเริ่มเห็นชัดเจนในปีนี้ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ที่นำไปสู่การขาดดุลงบประมาณมากขึ้น จะสร้างแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันและการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจหลายประเทศ ซึ่งจะเป็นแรงกดดันอยู่บ้างต่อการดำเนินนโยบายการเงิน แต่เชื่อว่าธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปอีกระยะ

“แต่ความแตกต่างของนโยบายการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินผันผวนตลอดทั้งปี และอาจผันผวนรุนแรงในบางช่วงเวลา ซึ่งนักลงทุน ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจะต้องตระหนักถึงความผันผวนเหล่านี้ และบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสม" นายวิรไท กล่าว

นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานก็จะเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยได้เริ่มปรับสูงขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเดือน ธ.ค.59 แต่มองว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยยังไม่น่ากังวล เพราะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากระดับที่ต่ำกว่าค่าในอดีตมาก

ผู้ว่า ธปท. ระบุอีกว่า เสถียรภาพของระบบการเงินเป็นประเด็นที่ยังต้องระมัดระวัง เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีพฤติกรรมและความเสี่ยงในการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search For Yield) สะสมต่อเนื่องมาหลายปี แม้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปี 60 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ถือว่ายังอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในอดีต

อย่างไรก็ตาม ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้จะขยายตัวได้ราว 3.2% หลังภาคส่งออกกลับมาขยายตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการลงทุนภาครัฐเป็นแรงหนุน ขณะที่คาดว่าเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 1.5% ทยอยปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน-สินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งการดำเนินนโยบายของ ธปท.ในปีนี้ จะสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและความผันผวนที่สูงขึ้น นโยบายการเงินจะผ่อนปรนไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมุ่งรักษาเสถียรภาพด้านราคาตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.5 บวก/ลบ 1.5%

“ธปท.คาดว่าปีนี้ อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 1.5% และจะทยอยปรับสูงขึ้นเข้าสู่ระดับเป้าหมายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง" นายวิรไท กล่าว

พร้อมมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะกระจายตัวได้ดีขึ้นใน 3 ด้าน คือ 1.ด้านการบริหารจัดการน้ำที่สามารถรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติได้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อรวมกับมาตรการช่วยเหลือภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ก็จะมีส่วนช่วยให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นส่งผลดีต่อรายได้ของภาคเกษตร

2.งบประมาณของภาครัฐที่มีเป้าหมายกระจายลงไปสู่ระดับจังหวัดมากขึ้น ทั้งงบกลางปี และงบประมาณรายจ่ายปี 61 ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการให้งบกลุ่มจังหวัด 1 แสนล้านบาทในโครงการประชารัฐ และ 3.ภาคการส่งออก ที่เริ่มมีการฟื้นตัวได้ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีการฟื้นตัว ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 59

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากต่างประเทศทั้งในเรื่องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความเสี่ยงจากการเลือกตั้งหลายประเทศในสหภาพยุโรป การเจรจา Brexit ตลอดจนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน และผลกระทบที่จีนจะได้รับจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ยังต้องติดตาม คือ ความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน ผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย และความชัดเจนของการเลือกตั้งครั้งใหม่

"ธปท.จะมีการทบทวน GDP ในทุกไตรมาส และจะติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง" ผู้ว่า ธปท.กล่าว

นอกจากนี้ ประเด็นเชิงโครงสร้าง 4 เรื่องสำคัญที่อาจจะกระทบต่อความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ คือ 1.ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ GDP และที่น่ากังวลคือคนไทยเริ่มก่อหนี้ในระดับสูงตั้งแต่อายุยังน้อย และระดับหนี้ไม่ได้ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณ ซึ่งปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลแก้ไข เพราะระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเป็นหนี้โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการบริโภคนั้นจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน และสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

2.ปัญหาเรื่องการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย และปัญหาโครงสร้างผู้ส่งออกไทยนั้น จะพบว่าปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยไม่สามารถฟื้นตัวกลับเข้ามาสู่ระดับที่เทียบเคียงได้กับการส่งออกของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียมาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้การส่งออกของไทยยังมีการกระจุกตัวที่สูงมาก โดยผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีสัดส่วนเพียง 5% กลับมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงถึง 88% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ขณะที่ผู้ส่งออกรายเล็กมีอัตราการอยู่รอดต่ำและไม่สามารถยกระดับธุรกิจของตัวเองให้แข่งขันได้ นอกจากนี้ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกอาจถูกซ้ำเติมมากขึ้นหากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ นำไปสู่การกีดกันทางการค้าที่สูงขึ้น

3.การลงทุนภาคเอกชนที่ค่อนข้างอ่อนแอ และการลงทุนที่ยังกระจุกตัวอยู่เพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากการสำรวจของ ธปท.เองในปี 58 ด้วยว่าผู้ประกอบการประมาณ 65% จากที่สำรวจทั้งหมดกว่า 270 บริษัทยังไม่มีแผนจะลงทุนเพิ่มเติม โดยมีแผนเพียงแค่การซ่อมแซมเครื่องจักรเก่าเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างน่ากังวล เพราะแม้จะเป็นผลมาจากปัจจัยด้นอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายมิติ เช่น การขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจน กฎเกณฑ์ภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไขจะเป็นตัวบั่นทอนการลงทุนและกระทบต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

นายวิรไท กล่าวว่า การลงทุนของภาคเอกชนที่เริ่มอ่อนแรงมาระยะหนึ่งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลจากความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทั้งความต่อเนื่องด้านนโยบายของภาครัฐ ปัญหาต้นทุนการทำธุรกิจ คุณภาพแรงงาน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหลายๆด้าน ที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน แต่ทั้งนี้ ก็ได้เห็นความพยายามของภาครัฐในการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การขยายมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน โครงการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์มากขึ้นของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ดังนั้น ในปี 60 นับเป็นโอกาสสำคัญที่ภาคเอกชนควรพิจารณาขยายการลงทุนอย่างจริงจัง เนื่องจากภาครัฐมีความชัดเจนในการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนด้วยการขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับแนวโน้มต้นทุนทางการเงินที่จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ดังนั้นการลงทุนในช่วงปีนี้ที่ต้นทุนทางการเงินยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากจึงถือว่ามีความเหมาะสม

“ภาครัฐมีกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบการทางด้านภาษีหลายเรื่อง ก็น่าจะเป็นโอกาสที่จะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เพราะเรื่องนี้สำคัญ ไม่ใช่การช่วยเรื่องเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ แต่เป็นการวางรากฐานการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางและระยะยาวต่อเนื่องด้วย" ผู้ว่า ธปท.กล่าว

4.การยกระดับศักยภาพของ SME ซึ่งในระยะต่อไป SME จะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากมาย ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพของ SME จะต้องทำอย่างจริงจังและรอบด้าน ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะให้ความสำคัญตอ่ประเด็นการเข้าถึงสินเชื่อของ SME แต่การเข้าถึงสินเชื่อไม่ใช่ประเด็นหลักที่จะช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวได้

“เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 60 และเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพที่ดี เป็นเศรษฐกิจที่มีกันชนดี มีความยืดหยุ่นดี และมีแรงเสริมจากภาครัฐที่ดี แต่เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความผันผวนสูงขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ แม้ปี 60 อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลกจะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าเป็นการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป ธปท.จะดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนงานพัฒนาตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของ ธปท."ผู้ว่า ธปท.กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ