นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า เพื่อรองรับนโยบายรัฐในการป้องกันการบุกรุกป่าไม้ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ของไทยไปยังประเทศต่างๆ ที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากไม้ต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล (Sustainable Forest Management, SFM และ Chain of Custody, CoC) สมอ.จึงได้กำหนดและประกาศใช้มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061-2559 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมป่าไม้ได้นำไปประยุกต์ใช้ ขณะเดียวกันผลักดันให้มาตรการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป
มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนี้ ครอบคลุมการดูแลและจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนป่าไม้เศรษฐกิจในระยะยาว การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ โดยมาตรฐานนี้กำหนดให้มีการป้องกันสวนป่าจากการทำผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การลักลอบตัดต้นไม้ การเผาป่า การใช้ที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและอำนวยประโยชน์แก่ชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นการจัดการที่คำนึงถึงประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมาตรฐานฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นตามแนวทางของมาตรฐานสากลและได้มีการปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย
นอกจากนี้ สมอ. ยังเร่งดำเนินการขยายสาขาการรับรองระบบงานให้เกิดระบบการรับรองสาขาการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนในประเทศไทย เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการรับรอง และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการในการขอการรับรอง ซึ่งขณะนี้ต้องใช้หน่วยรับรองของต่างประเทศ
การประกาศใช้มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้ดังกล่าว จะเป็นแนวทางข้อปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการในการจัดการด้านป่าไม้เศรษฐกิจที่ต้องการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน และเพื่อให้หน่วยรับรอง (CB) ใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาให้การรับรอง โดยมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เจ้าของสวนป่า ผู้ประกอบการโรงเลื่อยและโรงอบไม้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษ ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้เล็งเห็นความจำเป็นและผลประโยชน์ของการนำมาตรฐาน มอก. 14061-2559 ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการค้าและการส่งออก
ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษของไทย ประสบปัญหาการส่งออกกระดาษไปยังต่างประเทศที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ต้องได้รับการรับรองว่ามาจากพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะสามารถส่งผลิตภัณฑ์จากไม้เข้าไปจำหน่ายในตลาดของประเทศนั้นๆ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ได้จัดทำมาตรฐานและมีระบบการรับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
"ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการให้มีระบบการรับรองไม้เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันต้องได้รับการยอมรับในระดับสากลด้วยเพื่อส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถขายได้ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สร้างความมั่นคงของรายได้และความยั่งยืนให้เกษตรกร เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดการปลูกพืชเกษตรซึ่งราคาตกต่ำ มีไม้เศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตได้อย่างยั่งยืน และช่วยลดสภาวะโลกร้อน ตลอดจนยกระดับผลิตภัณฑ์ไม้ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับมาตรฐานสากล" เลขาธิการ สมอ. กล่าว
พร้อมระบุว่า ในขณะที่รัฐบาลเร่งรัดให้มีนโยบายแก้ไขปัญหาเรื่องยางพาราอย่างยั่งยืน สมอ.จึงมีเป้าหมายที่ผลักดันให้สวนยางพาราเป็นสวนป่าเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้ความสำคัญ และส่งเสริมให้เกิดการจัดการสวนยางพาราที่ได้มาตรฐานและได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เพื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้สามารถใช้ไม้ยางพาราที่มาจากพื้นที่ที่มีการจัดการตามมาตรฐานและส่งไปขายได้อย่างถูกต้อง ไม่ตัดไม้ที่เป็นการบุกรุกป่า เกิดการขยายปลูกสวนป่าไม้ยางพาราที่ได้มีมาตรฐานและตัดไม้อย่างถูกต้อง ส่งเสริมใช้ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา และสามารถเข้าประมูลงานการจัดซื้อของหน่วยงานภาครัฐได้คล่องตัว เพราะสามารถแจกแจงแหล่งที่มาของไม้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและผ่านรับรองตามมาตรฐานสากล