พลังงาน เสนอ กพช.ใช้วิธีประมูลโซลาฟาร์มสหกรณ์ เฟส 2-ชี้ขาดโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 30, 2017 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่ากระทรวงพลังงานจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 17 ก.พ. 2560 ให้ปรับรูปแบบโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนภาคพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม)สำหรับสหกรณ์การเกษตร เฟส 2 จำนวน 119 เมกะวัตต์ ให้เป็นระบบการประมูลแทนการจับสลาก

สนพ.เห็นว่าวิธีการประมูลเป็นวิธีที่เหมาะสมจะคัดเลือกผู้ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการได้จริง เพราะจากการใช้วิธีจับสลากในโครงการโซลาร์ฟาร์ม เฟสแรก พบว่าผู้ผ่านการจับสลากได้เข้าร่วมโครงการฯ บางรายไม่มีความพร้อมในการผลิต บางรายเริ่มตกลงที่จะก่อสร้างและผลิตในช่วง 2 เดือนสุดท้ายก่อนครบกำหนดผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) วันที่ 31 ธ.ค. 59 นอกจากนี้ พบว่ามีกลุ่มสหกรณ์การเกษตรบางรายไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามระยะเวลา COD ด้วย ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการสรุปผลการดำเนินงาน

ส่วนกรณีที่กลุ่มสหกรณ์การเกษตรระบุว่าหากใช้วิธีประมูลจะส่งทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะผิดวัตถุประสงค์การเป็นสหกรณ์นั้น นายทวารัฐ กล่าวว่า กลุ่มสหกรณ์สามารถเข้าร่วมประมูลได้ไม่ผิดกฎหมาย เนื่องจากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานที่ช่วยเสริมรายได้ให้สมาชิกสหกรณ์ที่สามารถดำเนินการได้

ส่วนโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ เฟสแรก ยังไม่มีผู้ร่วมโครงการเพราะติดปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุน ดังนั้น แผนเดิมจะเปิดเฟส 2 รวมเป็น 400 เมกะวัตต์ ทำให้ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ฯเฟส 2 จะต้องเปิดทั้งหมด 519 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากกลุ่มราชการยังไม่สามารถแก้ปัญหาพ.ร.บ.ร่วมทุนได้ทั้งหมด กระทรวงพลังงานจึงมีแผนเสนอเลิกโครงการในส่วนของราชการหรือปรับเป็นรูปแบบอื่นแทน ส่วนสหกรณ์ฯจะปรับเป็นรูปแบบประมูล 119 เมกะวัตต์ต่อ่ไป

และกรณีที่กลุ่มสหกรณ์การเกษตรจะขอแบ่งโควต้าโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการสหกรณ์ เฟส 2 ในส่วนของราชการ 400 เมกะวัตต์ มาให้กลุ่มสหกรณ์ฯ อีก 200 เมกะวัตต์นั้น กระทรวงพลังงานจะเสนอแนวให้ กพช. พิจารณาแนวทางสำหรับโควต้าส่วนราชการ 400 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น 1. ยกเลิกโครงการในส่วนของราชการ และ 2.เปลี่ยนรูปแบบเป็นอย่างอื่น เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มราชการไม่สามารถเข้าร่วมโครงการแม้แต่เพียงรายเดียว เพราะติดปัญหา พ.ร.บ.ร่วมทุน แม้กฤษฏีกาจะตีความข้อกฎหมายแล้วแต่ยังพบว่า บางแห่งร่วมโครงการได้และบางแห่งร่วมโครงการไม่ได้ ดังนั้นจึงเตรียมเสนอ 2 แนวทางดังกล่าวแก่ กพช. เพื่อให้กพช.เป็นผู้พิจารณาตัดสินต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ