นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวเรื่อง "ประเมิน 1 ปี การส่งออกสินค้าเกษตรไทยหลังเข้าสู่ AEC" ว่า ตลาดอาเซียนมีความสำคัญต่อการส่งออกของไทย โดยมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของตลาดอาเซียนในปี 59 มีมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาท เพิ่มจาก 3 ล้านล้านบาทในปี 58 และคาดว่าในปี 60 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 4 ล้านล้านบาท ซึ่งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นมูลค่า 7,416 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปยังกลุ่มอาเซียนก่อนเข้าสู่ AEC มีมูลค่า 108,916 ล้านบาท เพิ่มเป็น 121,715 ล้านบาท หลังเข้าสู่ AEC ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.3% หรือ 12,799 ล้านบาท
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปยังกลุ่มอาเซียนก่อนเข้าสู่ AEC มีมูลค่า 152,542 ล้านบาท เพิ่มเป็น 199,834 ล้านบาทหลังเข้าสู่ AEC ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.1% หรือ 47,292 ล้านบาท โดยสินค้าสำคัญของไทยไปตลาดอาเซียนที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 33.1% เป็น 45.7%, ยางพารา เพิ่มขึ้นจาก 60% เป็น 64.6%, ข้าวโพด เพิ่มขึ้นจาก 56.8% เป็น 74.9%, ถั่วเหลือง เพิ่มขึ้นจาก 1.3% เป็น 1.4%, เนื้อสัตว์แปรรูป เพิ่มขึ้นจาก 66.4% เป็น 68.0%
ส่วนสินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลง ได้แก่ กาแฟ ลดลงจาก 0.2% เหลือ 0.1%, มันสำปะหลัง ลดลงจาก 2.3% เหลือ 0.04%, มะพร้าว ลดลงจาก 3.5% เหลือ 2.3%, มะม่วง ลดลงจาก 39.5% เหลือ 22.1%, กล้วย ลดลงจาก 4.0% เหลือ 2.7% อาหารทะเลแปรรูป ลดลงจาก 12.3% เหลือ 6.9%
ผู้ส่งออกที่เห็นว่าการเข้าสู่ AEC ได้ประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มอาหารทะเลแปรรูป ข้าวโพด และถั่วเหลือง ส่วนผู้ส่งออกที่เห็นว่าเสียประโยชน์ ได้แก่ ข้าว มะม่วง และมันสำปะหลัง
นายอัทธ์ กล่าวว่า สำหรับความเห็นของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยส่วนใหญ่คาดว่าการส่งออกไปตลาดอาเซียนในปีนี้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 15% โดยมีมูลค่า 369,781 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ นั้น ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งตนเองจะแถลงข่าวการประเมินผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์อีกครั้งในวันที่ 28 ก.พ.นี้