ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ (Trumponomics) โดยเฉพาะนโยบายการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าที่กำลังพุ่งเป้าไปยังจีนและเม็กซิโก ซึ่งถือเป็น 2 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงเป็นอันดับต้นๆ รวมกันถึงกว่า 55% ของยอดขาดดุลการค้ารวมของสหรัฐฯ ว่า แม้ไทยไม่ใช่ประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้า แต่หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน/เม็กซิโกจริงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งทางบวกและทางลบ
สำหรับผลกระทบเชิงบวก : กลุ่มสินค้าที่ไทยเป็นคู่แข่งกับจีน/เม็กซิโกในตลาดสหรัฐฯ มีโอกาสแย่งส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และมีจีน/เม็กซิโกเป็นคู่แข่งสำคัญ อาทิ ยางล้อรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องนุ่งห่ม รถยนต์และส่วนประกอบ ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์และ Hard Disk Drive (HDD) ยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลดี หากจีน/เม็กซิโกเผชิญอุปสรรคด้านภาษีมากขึ้น ขณะเดียวกันไทยยังอาจได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติในจีนมายังไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยมีห่วงโซ่อุปทานหรือคลัสเตอร์ที่แข็งแกร่ง อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ปัจจุบันเริ่มมีนักลงทุนต่างชาติในบางอุตสาหกรรมย้ายฐานจากจีนมาไทยบ้างแล้ว อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ ยางล้อรถยนต์ (สำหรับในเม็กซิโกคาดว่านักลงทุนต่างชาติน่าจะย้ายฐานไปประเทศที่อยู่ในภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ ลาตินอเมริกา)
ขณะที่ ผลกระทบเชิงลบ : กลุ่มสินค้าที่ไทยเป็นคู่ค้าและอยู่ในห่วงโซอุปทานเดียวกับจีน/เม็กซิโก อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่จีน/เม็กซิโกส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง ทำให้จีน/เม็กซิโกนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบจากไทยลดลง อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์) ชิ้นส่วนยานยนต์/ยางล้อรถยนต์ ขณะเดียวกัน สินค้าไทยอาจเสี่ยงต่อการถูกจีนทุ่มตลาด หลังจากสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน อาจทำให้จีนได้รับผลกระทบรุนแรงจนต้องระบายสินค้าไปยังประเทศอื่นแทน ส่งผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปตลาดเดียวกับจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจากการทุ่มตลาดของจีนในกลุ่มสินค้าดังกล่าวมากขึ้น อาทิ ผลิตภัณฑ์พลาสติก (เม็กซิโกไม่ใช่ฐานการผลิตหลักของโลกเหมือนจีน ทำให้ไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบด้านนี้จากเม็กซิโก)
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับนโยบายดึงดูดให้บริษัทสหรัฐฯ ที่ไปลงทุนในต่างประเทศย้ายฐานกลับสหรัฐฯ อาทิ การปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเฉพาะบริษัทที่เป็นผู้ส่งออก ซึ่งหากรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจริง อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment : FDI) ในประเทศที่บริษัทสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่ต้องพึ่งพา FDI ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาทิ เม็กซิโก บราซิล จีน ขณะที่บริษัทสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของมูลค่าลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของสหรัฐฯ ไทยจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากจากมาตรการนี้
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวและนโยบาย Protectionism ของทรัมป์ว่าจะพุ่งเป้าต่อไปที่ประเทศใดอีกหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอยู่มาก เพราะสหรัฐฯ อาจใช้เป็นข้ออ้างในการเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้า อาทิ เพิ่มความเข้มข้นของอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) หรือแม้กระทั่งอาจตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ให้กับประเทศต่างๆ ลงในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไปได้ การค้าโลกในระยะข้างหน้าจึงนับว่ามีความไม่แน่นอนสูง ผู้ส่งออกไทยควรติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างไม่กะพริบตา รวมทั้งนำเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ มาใช้ โดยเฉพาะการประกันการส่งออก เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ