นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เผยเตรียมผลักดันสินค้าออร์แกนิคไทยก้าวสู่ยุค 3.0 ดึงนวัตกรรมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หวังขยายตลาดสินค้าออร์แกนิคไทยสู่ตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้หันมาให้ความสนใจเรื่องการลดการใช้สารเคมีเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพกันมากขึ้น หลังพบว่าสารเคมีตกค้างมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของผู้บริโภค
ล่าสุดประเทศศรีลังกาได้ประกาศยกเลิกการนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มไกลโฟเสททั้งหมด หลังพบถูกใช้เป็นจำนวนมากในการปลูกข้าว ทำให้เกษตรกรเป็นโรคไตเรื้อรัง เสียชีวิตแล้วนับหมื่นคน นอกจากนี้ยังมีสารที่ใช้ในทางการเกษตรอีกหลายชนิดที่ถูกควบคุม หรือระงับการใช้ในหลายประเทศแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยเอง
"ปัจจุบันก็มีความระมัดระวังในเรื่องการเข้ามาลงทุนเพาะปลูกพืชเกษตรจากนักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมามีการนำสารเคมีจำนวนมากเข้ามาใช้โดยปราศจากการควบคุม ทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย รวมทั้งสุขภาพของเกษตรกรและชาวบ้านได้รับผลกระทบไปด้วย" นางอภิรดี กล่าว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้มีการรณรงค์ในเรื่องของคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหารมาโดยตลอด โดยในปีนี้จะเร่งผลักดันการทำเกษตรอินทรีย์ให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคสินค้าสุขภาพมีกระแสแรงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วมีการเตรียมความพร้อม และประชาชนส่วนใหญ่มีการตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าวแล้วเพิ่มสูงขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าหากเดินทางไปสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปจะเห็นร้านค้าสินค้าออร์แกนิคและสินค้าปลอดสารพิษจำนวนมาก ซึ่งมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด อีกทั้งยอดจำหน่ายก็เติบโตแซงหน้าร้านค้าสินค้าปกติอีกด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนส่งเสริมสินค้าออร์แกนิคหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาเกษตรกร/ผู้ประกอบการให้ได้มาตรฐานสากล การทำการตลาดผ่านช่องทางใหม่ๆ รวมทั้งการจัดงาน Organic and Natural Expo 2017 ซึ่งเป็นการจัดงานเป็นปีที่ 7 โดยมอบหมายให้นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมตลาดสินค้าออร์แกนิคมากว่า 10 ปี เข้ามาช่วยผลักดันโครงการดังกล่าว คาดว่าปีนี้จะสามารถเพิ่มสัดส่วนของยอดขายสินค้าออร์แกนิคได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15
ด้านนางพิมพาพรรณ กล่าวว่า หน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล หรือ IFOAM ได้เปิดเผยว่าขณะนี้โลกเข้าสู่ยุคออร์แกนิค 3.0 โดยในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมาหรือประมาณปี 1920 เรื่อยมาถือเป็นยุคออร์แกนิค 1.0 ที่เกษตรกรเห็นความสำคัญของการทำการเกษตรแบบธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ต่อมาอีก 50 ปี หรือ ปี 1970 เริ่มเข้าสู่ยุคออร์แกนิค 2.0 คือ มีการนำมาตรฐานระบบการกำกับดูแลที่ถูกต้องเข้ามาใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เริ่มจากระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศและสู่ในระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ โดยการกำหนดมาตรฐานเริ่มแรกเกิดขึ้นที่ยุโรปขยายมาที่สหรัฐฯ จนกระทั่งสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements : IFOAM) ได้มีการพัฒนาระบบกลางเพื่อตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ด้านมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
นอกจากนั้นแล้วตั้งแต่ปี 2015 หรือ 2558 จนถึงปัจจุบัน โลกได้เข้าสู่ยุคออร์แกนิค 3.0 ซึ่งยังคงรักษาแนวคิดรากฐานเดิมของยุคออร์แกนิค 1.0 และต่อยอดยุคออร์แกนิค 2.0 โดยเน้นการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงซึ่งให้ความสำคัญกับชีวิตคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต โดยมีนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน มีสังคมที่ยั่งยืน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีคุณธรรม ที่สำคัญผลผลิตหรือรายได้ที่เกิดขึ้นจากชุมชนในท้ายสุดแล้วก็จะกลับมาพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืน ซึ่งตรงกับหลักการของไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการบริหารจัดการเทคโนโลยีเปลี่ยนจากเกษตรกร/ผู้ประกอบการ ให้มีความรอบรู้ก้าวหน้าทันตลาด หรือที่เรียกว่า Smart Enterprise ที่จะขับเคลื่อนสู่การเป็นประเทศที่มีความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป