นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จะเข้าร่วมคณะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2560 ณ กรุงเนปิดอว์ และเมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยในการเยือนครั้งนี้จะมีการเยี่ยมคารวะนายติน จ่อ ประธานาธิบดี และหารือกับนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ เพื่อกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้ามุ่งสู่การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าหมายบรรลุมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสองเท่าภายใน 5 ปี (ปี 2564)
สำหรับการค้ารวมไทย-เมียนมาในปี 2559 มีมูลค่าประมาณ 6,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมียนมาเป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในอาเซียน ซึ่งไทยให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุนบริเวณชายแดน ผ่านการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การจัดฝึกอบรมและการสร้างเครือข่าย SMEs การให้ความช่วยเหลือเมียนมาในโครงการพัฒนาระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ให้สามารถตรวจสอบและออกเอกสาร Form D ได้อย่างสะดวก ณ บริเวณด่านชายแดนเมียนมา-ไทย โดยโครงการนี้ประกอบด้วยการพัฒนาบุคลากร รวมถึงการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์และซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ไทยจะเชิญฝ่ายเมียนมาเข้าร่วมงานมหกรรมการค้าชายแดนแม่สอดในเดือนมีนาคม 2560 อีกด้วย
รมว.พาณชิย์ กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้ กระทรวงฯ ได้พานักธุรกิจรายสำคัญของไทย 22 ราย จากสาขาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีสื่อสารและนวัตกรรม สาธารณูปโภค พลังงาน ค้าปลีก อุปโภคบริโภค การเงิน ธุรกิจบริการ และการศึกษา เป็นต้น เข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและเอกชนระดับใหญ่ของเมียนมา ขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในภาคส่วนธุรกิจที่จะเกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และเชื่อมโยง CLMVT (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) กับจีน เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และภูมิภาคอื่นของโลก
ทั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงฝ่ายไทยและเมียนมาจะร่วมกันเป็นสักขีพยานการลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐต่อรัฐ และเอกชนต่อเอกชน โดยในส่วนของเอกชนมีการลงนาม MOU กว่า 15 ฉบับ ครอบคลุมธุรกิจบริการและการลงทุนที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ งานวิจัย เช่น พลังงาน การแพทย์ สื่อโทรทัศน์ ธนาคาร อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น โดยไทยให้ความช่วยเหลือและให้ความร่วมมือกับเมียนมาในการพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาภาคการผลิต สาธารณูปโภค การสื่อสาร เป็นต้น
โดย MOU ที่จะลงนามครั้งนี้ เช่น MOU เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการทำธุรกิจให้กับ SME เมียนมา โดยธนาคารกสิกรไทยร่วมกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของเมียนมา (UMFCCI) จัดอบรมวางรากฐานความรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุนจากธนาคารในอนาคต และสร้างฐานข้อมูล SME ที่มีประสิทธิภาพในภูมิภาคเพื่อเพิ่มโอกาสในการจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน; MOU ด้านการอำนวยความสะดวกแก่ชาวเมียนมาในการส่งเงินกลับบ้าน ระหว่างธนาคารรัฐเมียนมาร์ (Myanmar Economic Bank: MEB) และธนาคารกรุงไทย เพื่อช่วยเหลือแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทยโอนเงินกลับประเทศ; MOU เพื่อการร่วมทุนสร้างโรงงานถุงพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา ระหว่าง Thai plastic bags industry (TPBI) กับ HMWE Plastic Bag Enterprise ของเมียนมา เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังร่วมกับ BOI จัดหารือความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจรายจากไทย ผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในเมียนมา และสมาชิกหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมา ภายใต้กิจกรรม Thailand - Myanmar Business Cooperation ณ เมืองย่างกุ้ง โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหน่วยงานภาครัฐและนักธุรกิจของสองประเทศเข้าร่วมมากกว่า 300 คน ซึ่งการรวมตัวครั้งใหญ่นี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา และยังมีการหารือ 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และพลังงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
"การเยือนครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่าจะเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์การค้าไทย-เมียนมา อย่างแน่นแฟ้น สร้างความเชื่อมั่นและความจริงใจต่อเมียนมาว่า ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนกับเมียนมาต่อไป" นางอภิรดี กล่าว