(เพิ่มเติม) EXIM BANK กำหนด 6 ยุทธศาสตร์ปรับบทบาทครั้งใหญ่ หวังเพิ่ม GNI ภาคส่งออกของปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2017 17:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า สำหรับนโยบายในปี 60 EXIM BANK จะเริ่มต้นดำเนินงานตามแผนแม่บท 10 ปี (60-70) โดยมีเป้าหมายจะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institution:SFI) ชั้นนำระดับโลกที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยสอดคล้องกับ Thailand 4.0 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (60-64)

ทั้งนี้ แผนแม่บท 10 ปีเป็นผลจากการทำงานของ EXIM BANK ร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยใช้จุดแข็งของ EXIM BANK เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาว จากปัจจุบัน EXIM BANK เป็น SFI ที่มีส่วนสนับสนุนรายได้มวลรวมประชาชาติ (Gross National Income:GNI) ของไทยประมาณ 1.0% จะเพิ่มขึ้น 1.5% ในอีก 10 ปีข้างหน้าเป็น 2.5% ของ GNI ช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกและการเติบโตของภาคการส่งออกของไทยได้เพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ ตลอดจนการส่งเสริมการจ้างงาน การเสริมสร้างองค์ความรู้ทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้ประกอบการไทย การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

“เป้าหมายการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของธนาคาร เชื่อว่าจะช่วย GNI ของไทยในอีก 10 ข้างหน้า (ปี 2570) เป็น 2.5% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้าง 3.84 แสนล้านบาท จากปัจจุบัน GNI อยู่ที่ 0.9-1% หรือคิดเป็นสินเชื่อคงค้างราว 7.8 หมื่นล้านบาท" นายพิศิษฐ์ กล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ในปี 60 เป็นช่วงเวลาการปรับบทบาทองค์กรครั้งใหญ่ของ EXIM BANK โดยจะดำเนินการผลักดันให้เกิดโครงการต้นแบบของการพัฒนารูปแบบการให้บริการประกันการส่งออกผ่านช่องทางใหม่ๆ อาทิ การให้บริการทางออนไลน์ เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผุ้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ในการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดค้าปลีกและค้าส่งทั่วโลก

นอกจากนี้ EXIM BANK จะเร่งส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งการสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกและเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนให้แก่นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพจะขยายการลงทุนไปต่าปงระเทศ ทั้งการสร้างโรงงานผลิตและการประกอบกิจการการค้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะใน CLMV ซึ่ง EXIM BANK กำลังทยอยเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนเพื่อทำงานร่วมกับไทยแลนด์ทีมในการสนับสนุนการขยายการค้าการลงทุนของไทยในตลาดดังกล่าว

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ในปี 60 จะเน้นการทำประกันการส่งออก โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดคงค้างจาก 5.6 หมื่นล้านบาท จะเพิ่มเป็น 7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท โดยจะขยายการทำประกันสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์สามารถมาใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อจาก ธสน. ได้ ทั้งการประกันการชำระเงิน และการประกันความเสี่ยงจากการเมือง ถือเป็นการรองรับจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.2536 ที่ให้ธนาคารขยายขอบเขตในการรับประกันความเสี่ยงในการลงทุนในต่างประเทศให้แก่ผู้ลงทุนที่ไม่ได้ขอสินเชื่อจากธนาคาร

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจธนาคารในการรับประกันต่อและรับประกันต่อรับประกันร่วม หรือ เป็นนายหน้ารับประกัน ที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันความเสี่ยงดังกล่าว อีกทั้งจะเพิ่มบทบาทเรื่องการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุน ให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 15% ของยอดสินเชื่อ ซึ่งที่ผ่านมา EXIM BANK พยายามสนับสนุนลูกค้าให้ย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV อาเซียน และตลาดเกิดใหม่ เพราะจะช่วยลดต้นทุนได้มาก

ทั้งนี้ EXIM BANK ได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวตามแผนแม่บท ดังนี้ 1. การส่งเสริมการค้าและการลงทุนด้วยการสร้างความต้องการสินค้าและบริการของไทยในประเทศตลาดหลักและประเทศตลาดใหม่ มุ่งเน้นการสร้างโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดใหม่ (New Frontier Markets) ซึ่งรวมถึงการบุกเบิกโอกาสการค้าการลงทุนของไทยในตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่มีความต้องการสินค้าและบริการของไทยจำนวนมาก 2. การเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการลงทุนของรัฐและเอกชนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

3. การขยายตลาดรับประกันการส่งออกและลงทุน ด้วยนวัตกรรมบริการประกันและการรับประกันต่อ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก 4. การส่งเสริมการค้าและการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME เข้าสู่โลกการค้าดิจิทัลได้อย่างประสบความสำเร็จและแข่งขันได้ 5. การสนับสนุนด้านความรู้และการเงินให้ SME ที่มีศักยภาพ นำไปพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและการบริการ เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยและแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

และ 6. การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการดำเนินงาน โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่ทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับภาครัฐเป็นไทยแลนด์ทีม

สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 59 มีกำไรสุทธิ 1,304 ล้านบาท ช่วยให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs แข่งขันได้มากขึ้น ทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดย ณ สิ้นเดือน ธ.ค.59 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างจำนวน 83,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 58 จำนวน 9,630 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในระหว่างปีจำนวน 25,327 ล้านบาท และมีการชำระคืนของสินเชื่อเดิมบางส่วน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 133,993 ล้านบาท โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs เท่ากับ 86,497 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs จำนวน 35,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,848 ล้านบาท หรือ 20.04% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ด้านการรับประกันการส่งออกและการลงทุน ในปี 59 มีปริมาณธุรกิจส่งออกและลงทุนรวมด้านรับประกัน เท่ากับ 56,486 ล้านบาท โดย 11,255 ล้านบาทเป็นธุรกิจส่งออกของ SMEs หรือ 19.92% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม ส่วนด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 56,382 ล้านบาท

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือน ธ.ค.59 อยู่ที่ 3.57% โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 2,970 ล้านบาท ลดลง 1,023 ล้านบาทจากปีก่อน และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 6,842 ล้านบาท โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 2,675 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 255.81% ทำให้ธนาคารยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ