พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแผนการเสริมสร้างฟื้นฟูและเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 ม.ค.60 โดยมีทั้งหมด 17 โครงการ วงเงินรวม 2,514.77 ล้านบาท ประกอบด้วย การหยุดยั้งความเสียหาย 4 โครงการ ได้แก่ 1. การบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ พ.ด.6 ในพื้นที่เกษตร 2. การจ้างงานชลประทาน 3. โครงการฝึกอบรม การซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็ก และ 4. คลินิกเกษตรเคลื่อนที่ พืช ปศุสัตว์ ประมง
การเสริมสร้างฟื้นฟู 10 โครงการ ได้แก่ ด้านพืช ประกอบด้วย 1. โครงการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรโดยปรับปรุงบำรุงดิน 2. โครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตร โดยสนับสนุนสารชีวภัณฑ์ป้องกันโรคไม้ยืนต้น (สารไตรโคเดอร์มา) รวมทั้งส่งเสริมการปลูกผักเพื่อบริโภคและสร้างรายได้ และ 3. โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม, ด้านปศุสัตว์ ประกอบด้วย 1. โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านปศุสัตว์ระยะเร่งด่วน และ 2. โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริส่งเสริมอาชีพโคเนื้อ/กระบือ, ด้านประมง ประกอบด้วย โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยด้านประมง เงินทุนฟื้นฟูการเลี้ยงสัตว์น้ำ
ด้านลดภาระหนี้สิน/สินเชื่อใหม่ ประกอบด้วย 1. การให้ความช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบภัย ซึ่งขยายระยะเวลาชำระหนี้ 6 เดือน โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3% 2. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนที่ประสบภัย โดยงดคิดดอกเบี้ย 1 ปี ในปีถัดไปให้ลดดอกเบี้ยจากเดิม 5% เป็น 2% เป็นเวลา 2 ปี และ 3. มาตรการช่วยเหลือด้านหนี้สินเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยยกเว้นดอกเบี้ยสินเชื่อในปี 2560 และขยายเวลาการชำระหนี้เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกร ตลอดจนเพิ่มวงเงินสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในเขต ส.ป.ก.
ด้านระบบชลประทาน มีการซ่อมแซมโครงการชลประทาน เนื่องจากจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการฟื้นฟูกลับคืนมา รวมถึงการจัดทำแผนงานโดยเฉพาะการพัฒนา Flood Way ได้ประสานกับผังเมืองเพื่อดำเนินการเตรียมแผนดังกล่าว รวมทั้งกรมชลประทานได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 3 โครงการ ได้แก่ 1. การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ครัวเรือนละ 3,000 บาท 2. การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ และ 3. การช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนพัฒนายางพารา เป็นทุนปลูกแทน 16,000 บาทต่อไร่