นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือน ม.ค. 60 อยู่ที่ 74.5 จาก 73.7 ในเดือน ธ.ค.59 โดยดัชนีฯ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แม้ว่าจะมีสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 63.1 จาก 62.5 ในเดือน ธ.ค.59
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 69.1 จาก 68.2 และ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 91.2 จาก 90.3
ปัจจัยบวก ได้แก่ การส่งออกในเดือน ธ.ค.59 เพิ่มขึ้น 6.23%, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 60 เพิ่มเป็น 3.6%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย, ความคาดหวังของประชาชนต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจ
ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น, สศค.ลดคาดการณ์ GDP ปี 59 เหลือ 3.2% จากเดิมคาด 3.3%, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ, ผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, ความกังวลสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ และความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะมองว่าอาจจะกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต
"ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงปลายปี การส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการ โดยเฉพาะยางพาราปรับตัวดีขึ้น และบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อมากขึ้น และมีความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอยช่วงเดือนม.ค.มากขึ้น..
แต่อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะยังมีแรงกดดันที่สำคัญมาจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทำให้ผลการสำรวจความคิดเห็นในส่วนของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ยังมีความไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวได้อย่างเด่นชัดในช่วง 6 เดือนจากนี้ไป และเป็นผลให้ดัชนีโดยรวมถูกถ่วงลง แต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงสถานการณ์ในระยะสั้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่" นายธนวรรธน์ กล่าว
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าการบริโภคของภาคประชาชนยังฟื้นตัวไม่มากนักในไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นไป ถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ รัฐบาลใช้งบประมาณกลางปีกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
“คาดว่าไตรมาส 1 การจับจ่ายใช้สอยยังไม่คึกคัก แต่น่าจะเริ่มกลับมาคึกคักได้ในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป หากรัฐบาลสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายงบกลางปีได้อย่างรวดเร็ว ตามแผน และเป็นรูปธรรม...ถ้างบเบิกจ่ายกลางปีเพิ่มเติมสามารถผ่าน สนช. และเริ่มทำได้ในไตรมาส 2 ก็จะเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมระบุว่า สถานการณ์ในขณะนี้พบว่าประชาชนยังมีความลังเลต่อการจับจ่ายใช้สอย และยังไม่มั่นใจต่อภาวะการส่งออกของประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการกีดกันทางการค้ากับประเทศจีน ตลอดจนสถานการณ์ Brexit ในช่วงเดือนมี.ค. จึงอาจทำให้คนกังวลว่าปัจจัยเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยที่อาจจะมีความผันผวนในช่วงไตรมาสที่ 2 นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 เอง ไม่ได้เป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว หรือ High Season จึงทำให้เศรษฐกิจไทยขาดแรงหนุนในเรื่องบรรยากาศการท่องเที่ยว ดังนั้นหากการส่งออกยังฟื้นตัวไม่ได้ต่อเนื่อง การใช้จ่ายงบประมาณกลางปีของรัฐบาลจึงถือเป็นความสำคัญที่จะช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้
“หากโมเมนตัมในไตรมาสที่ 2 ไม่คึกคักหรือไม่โดดเด่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่ ม.หอการค้าไทย คาดไว้ที่กรอบ 3.5-4% ก็อาจจะมีความเป็นไปได้น้อยลง แต่เราจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด" นายธนวรรธน์ กล่าว