WIPO เผย PTT-SCC-ฮอนด้า ยื่นขอจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศผ่านระบบ PCT มากสุด 3 อันดับแรก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2017 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้รายงานการจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศผ่านระบบ PCT (Patent Cooperation Treaty) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก พบว่า ในปี 58 มีการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศจากทั่วโลกผ่านระบบ PCT เพิ่มขึ้น 1.7% และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 โดยประเทศที่มีรายได้ปานกลางยื่นขอจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ได้แก่ ไทย มีการยื่นคำขอ 132 คำขอ เพิ่มขึ้นจาก 68 คำขอในปี 57 ตามด้วยเปรู ตุรกี และเม็กซิโก

การยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศผ่านระบบ PCT เป็นไปตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร ภายใต้การกำกับดูแลของ WIPO ซึ่งผู้ยื่นคำขอจดจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะสามารถยื่นจดในประเทศเดียว แต่สามารถขอรับความคุ้มครองได้ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกที่เป็นสมาชิก PCT ทำให้ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการยื่นขอจด จากเดิมที่หากจะขอรับความคุ้มครองประเทศใด ก็ต้องก็ยื่นจดในประเทศนั้นๆ สำหรับไทยเข้าเป็นภาคี PCT เมื่อปี 52 โดยผู้ที่ต้องการยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในต่างประเทศ สามารถยื่นคำขอผ่านระบบนี้ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา

สำหรับไทยมีผู้ประกอบการยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านระบบ PCT มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ บมจ.ปตท. (PTT) , บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และเครือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ขณะที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศได้ยื่นผ่านระบบ PCT ในประเทศไทยรวม 31,116 คำขอ แยกเป็นสัญชาติ 5 อันดับแรก โดยอันดับ 1 ได้แก่ ญี่ปุ่น 2,211 คำขอ สหรัฐฯ 1,022 คำขอ เยอรมนี 314 คำขอ สวิสเซอร์แลนด์ 271 คำขอ และฝรั่งเศส 162 คำขอ

ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายบริษัท พบว่า บริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี จากจีน ยังคงเป็นผู้ยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งที่ 3,898 คำขอ รองลงมา คือ กลุ่มบริษัท ควอลคอมม์ จากสหรัฐฯ มีสิทธิบัตรที่ประกาศโฆษณาแล้ว 2,442 คำขอ และบริษัท ZTE จากจีน 2,155 คำขอ ส่วนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (รวมกลุ่มบริษัทด้านการสื่อสารดิจิทัล) เป็นสาขาที่มียื่นคำขอมากที่สุดมีสัดส่วนถึง 9 ใน 10 ของสิทธิบัตรที่มีการยื่นจดทะเบียนผ่านระบบ PCT


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ