รมว.คลัง นั่งหัวโต๊ะเคาะทางแก้คอรัปชั่น ป้องกันล็อคสเปค-ฮั้วราคา พร้อมปรับบทลงโทษเอื้อเอาผิดคนรับสินบน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 2, 2017 19:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่อกรณีปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ แม้จะเป็นปัญหาที่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วก็ตาม แต่เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีช่องทางที่เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้อีกในอนาคต หรืออย่างน้อยก็ให้การทุจริตคอรัปชั่นลดน้อยลงไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดราคากลางในการจัดซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจได้เข้ามาร่วมกันหาวิธีในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น

ทั้งนี้ ในที่ประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าวมีความเห็นว่าปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นล้วนมาจากปัจจัย 3 เรื่องหลัก คือ 1.การกำหนด TOR และการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างที่แต่ละหน่วยงานจะเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง 2.การฮั้วราคาของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งเป็นช่องโหว่สำคัญของการจัดซื้อจัดจ้าง และ 3.การจัดซื้อผ่านคนกลาง ที่รับค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทแม่แล้วนำมาจ่ายสินบนต่อให้แก่บุคคลที่สามารถเอื้อประโยชน์ในการชนะประมูลได้

ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ได้ในระหว่างที่รอให้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ มีผลบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงเดือน ส.ค.60 นั้น ในกรณีของข้อแรกเรื่องการล็อคสเปคหรือล็อค TOR นั้น กระทรวงการคลังได้เสนอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการในข้อตกลงสัญญาคุณธรรม เพื่อให้มีการเข้ามาดูแลเรื่องการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อครุภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม และมีการปรับปรุงราคากลางให้มีความถี่มากขึ้น เพื่อให้ได้ราคาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันมากที่สุด

ส่วนกรณีที่สองเรื่องการฮั้วราคานั้น จะให้เพิ่มหน้าที่ของคณะกรรมการข้อตกลงสัญญาคุณธรรม ให้สามารถขึ้นทะเบียนผู้รับงานของรัฐได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนผู้รับเหมาโครงการให้มาก โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาจากต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมประมูลงานในโครงการของภาครัฐได้ ก่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นและทำให้การฮั้วประมูลน่าจะลดน้อยลง

ขณะที่กรณีที่สามเรื่องการจัดซื้อผ่านคนกลางนั้น จะมีการออกกฎระเบียบในเรื่องของการจัดซื้อโดยตรง และจะยกเว้นให้มีการซื้อผ่านคนกลางได้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ หรือในกรณีที่การจัดซื้อโดยตรงไม่สามารถทำได้เท่านั้น

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังยังได้เสนอแนวคิดให้มีการแก้ไขกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมในส่วนของการรับสินบน โดยจะปรับบทลงโทษของผู้ที่ให้สินบนที่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการดำเนินคดีเอาผิดแก่ผู้รับสินบนได้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการคอรัปชั่นในไทยได้ และเป็นแนวทางเสริมจาก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง และการทำ และ e-Bidding ซึ่งในรายละเอียดของการปรับบทลงโทษในกรณีของผู้ให้สินบนจะเป็นอย่างไรนั้น คาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนภายใน 1 เดือน

ทั้งนี้ จะได้มีการนำเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เพื่อพิจารณาในรายละเอียดในการปรับบทลงโทษดังกล่าว ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

“กฎหมายเดิม ผู้ที่ให้สินบนจะไม่กล้าเปิดเผยตัวเอง เพราะถ้าเปิดเผยจะโดนคดีอาญา ดังนั้นควรแก้กฎหมายนี้ว่า กรณีผู้ให้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความผิดอยู่แล้ว แต่ถ้ารับสารภาพว่าให้เพราะอะไร ให้แก่ใคร อาจจะลงโทษด้วยการจ่ายเป็นค่าปรับ หรือทำทัณฑ์ไว้ เมื่อแก้กฎหมายแบบนี้ ผู้ที่ให้ หรือถูกบังคับให้ให้โดยที่ไม่อยากทำ จะได้สามารถเปิดเผยข้อมูลกับภาครัฐได้ และภาครัฐจะได้เล่นงานคนที่รับสินบนตรงได้ ซึ่งหลายประเทศใช้แบบนี้แล้ว น่าจะได้ประโยชน์ เพราะผู้ให้สินบนจะได้ไม่เป็นผู้รับปัญหาแต่ฝ่ายเดียว สามารถถือไพ่เหนือกว่าผู้บังคับให้รับสินบนได้ ที่จีนก็แก้กฎหมายเป็นแบบนี้แล้ว" นายอภิศักดิ์ กล่าว

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า สำหรับการจะใช้ ม.44 เพื่อให้การแก้กฎหมายในส่วนของการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้เร็วขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเชื่อว่าหากหัวหน้า คสช.พิจารณาว่าถ้าใช้ ม.44 แล้วเป็นประโยชน์แก่ประเทศก็คงพร้อมที่จะดำเนินการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ